Breaking2 : ความพยายามสร้างประวัติศาสตร์ของ nike

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (๖ พ.ค.) ใครที่ใช้ twitter อาจจะแปลกใจที่เห็นมี hashtag #Breaking2 ติดอันดับ trending แล้วมีคนใช้ hashtag อันนี้กันเยอะแยะ ถ้าไม่ได้ตามข่าวมาก่อนก็คงสงสัยว่า #Breaking2 นี่มันคืออะไร?

ลองมาดูกัน

What?

Breaking2 เป็นโปรเจ็กต์ของ nike ที่พยายามจะสร้างประวัติศาสตร์ในวงการมาราธอน ซึ่งเดิมก่อนหน้านี้มีความเชื่อกันว่า มนุษย์จะไม่มีทางวิ่งมาราธอนได้ในเวลาต่ำกว่าสองชั่วโมงเป็นอันขาด เพราะมันเกินศักยภาพที่มนุษย์จะทำได้ (ประมาณว่า วี อาร์ ออล ฮิวแมน น็อต ซูเปอร์ ฮิวแมน นะ ยูว์) แต่ปรากฎว่า ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถิติมาราธอนเริ่มเข้าใกล้สองชั่วโมงมาเรื่อย ๆ จนสถิติโลกล่าสุด (ของผู้ชาย) อยู่ที่ ๒:๐๒:๕๗ หรือสองชั่วโมงสองนาทีห้าสิบเจ็ดวินาที ทำไว้เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๗ ในการแข่งขันเบอร์ลิน มาราธอน โดย Dennis Kimetto ชาวเคนยา (ใส่ adidas รุ่น adios Boost) ซึ่งก็มีการประเมินกันใหม่ว่า มนุษย์อาจทำได้ก็ได้เว้ยเฮ้ย แต่คงต้องใช้เวลาในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกประมาณซักสิบปี

ทีนี้สิบปีมันนานไง ไม่ทันใจวัยรุ่น เอ๊ย บริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬายักษ์ใหญ่ทั้ง nike และ adidas เพราะเรื่องนี้ถ้าใครทำได้ก่อนมีหวังดังระเบิด นอกจากจะได้รับการจารึกชื่อเอาไว้ในประวัติศาสตร์แล้ว ชื่อเสียงและยอดขายถล่มทลายจะตามมาอีกแน่นอน ทาง nike ก็เลยทำโปรเจ็กต์ Breaking2 ขึ้นมา ส่วน adidas ก็ไม่ได้อยู่เฉย มีโปรเจ็กต์ของตัวเองเหมือนกัน ใช้ชื่อว่า Sub2 ซึ่งวันนี้เราจะยังไม่พูดถึง เพราะเราจะพูดถึง Breaking2 กันนะฮะ

Who?

นอกจาก nike ที่เป็นเจ้าของโปรเจ็กต์แล้ว งานนี้ก็ต้องมีนักวิ่งใช่มะ ทาง nike ก็ไปคัดแล้วคัดอีก เฟ้นแล้วเฟ้นอีก เอาสถิติเอาข้อมูลของนักวิ่งแต่ละคนมาวิเคราะห์กันละเอียดยิบ สุดท้ายได้มาสามคน คือ Eliud Kipchoge ชาวเคนยา Lelisa Desisa ชาวเอธิโอเปีย และคนสุดท้าย Zersenay Tadese ชาวอะไรไม่รู้ เขียนยังงี้ Eritrea (ทั้งสามคนดูโหงวเฮ้งได้ตามภาพด้านบนนะฮะ)

คนแรก Eliud Kipchoge มีดีกรีเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกคนล่าสุด สถิติเวลาดีที่สุดที่เคยทำได้คือ ๒:๐๓:๐๕ ในการแข่งลอนดอน มาราธอน เมื่อปีที่แล้ว

คนต่อมา Lelisa Desisa ดีกรีเป็นแชมป์บอสตัน มาราธอน ปี ๒๕๕๘ และรองแชมป์ในปีถัดมา สถิติเวลาดีที่สุดที่เคยทำได้คือ ๒:๐๔:๔๕ ในการแข่งดูไบ มาราธอน ปี ๒๕๕๖

คนสุดท้าย Zersenay Tadese คนนี้สถิติมาราธอนดูยังห่าง เพราะทำเวลาอยู่ที่ ๒:๑๐:๔๑ แต่เป็นเจ้าของสถิติโลกฮาล์ฟมาราธอนมาแล้วเจ็ดปียังไม่มีใครทำลายได้ที่ ๕๘:๒๓ นาที

When?

หลังจากนั่งจับยามสามตาดูดวงชะตาฟ้าดินแล้ว nike ก็เลือกเอาวันที่ ๖ พฤษภาคม ที่ผ่านมาเป็นวันดีเดย์ ส่วนตัวของผมเองเดาว่าที่ nike เลือกวันนี้ก็เพราะเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๙๗ Roger Bannister ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการกีฬาด้วยการเป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งระยะหนึ่งไมล์ (ประมาณ ๑.๖ กิโลเมตร) ได้ในเวลาน้อยกว่า ๔ นาที (แกทำได้ที่ ๓:๕๙.๔ นาที) ซึ่งเรื่องนี้เดิมก็เชื่อกันว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยที่มนุษย์จะทำได้เหมือนกัน เรื่องวิ่งมาราธอนในสองชั่วโมงนี่ก็อยู่ในระดับเดียวกัน nike คงกะว่า วันนี้ล่ะวะเป็นวันดีที่จะเป็นวันย้อนรอยประวัติศาสตร์กันอีกซักที ประมาณนั้น

Where?

เมื่อตั้งเป้าเป็นโปรเจ็กต์ moonshot ขนาดนี้ สถานที่ที่จะจัดวิ่งครั้งนี้จึงสำคัญมาก ทีมงาน nike เสาะแสวงหาสถานที่ตามโลเคชั่นมาราธอนสำคัญ ๆ ทั่วโลก แต่สุดท้ายเมื่อนำเอาปัจจัยต่าง ๆ มาพิจารณาแล้วมาสรุปกันที่ Autodromo Nazionale Monza ซึ่งเป็นสนามแข่งรถที่อยู่ใกล้กับเมืองมิลาน อิตาลี

ปัจจัยที่เอามาพิจารณาที่ว่านี่ไม่ใช่พูดกันเล่น ๆ เพราะทีมงานดูกันตั้งแต่ระดับความสูงเหนือน้ำทะเล อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ กระแสลมในพื้นที่ รวมไปถึงคุณภาพของพื้นผิวสนามด้วย ทางทีมงานถึงขนาดเอาข้อมูลสภาพอากาศที่ Monza ในเวลา ๖ ปีย้อนหลังมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสถานที่วิ่งมาราธอนที่เคยทำเวลาได้ดีที่สุดด้วย เพื่อให้มั่นใจว่า เอาที่นี่แหละเฮ้ย

How?

การเตรียมตัวเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ครั้งนี้ แต่ละคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป ฝ่ายสถานที่ก็หาไป ฝ่ายนักวิ่งก็ซ้อมกันไป โปรเจ็กต์นี้นักวิ่งที่ได้รับการคัดเลือกทั้งสามคนซ้อมกันอย่างหนักเป็นเวลาเจ็ดเดือน โดยที่อยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมของทีมงาน nike โดยตลอดเพื่อหาวิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่ง ดูฟอร์มการวิ่ง ไปจนถึงการดูแลเรื่องอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อถึงวันที่ ๖ พ.ค. สภาพร่างกายของแต่ละคนจะอยู่ในช่วงพีคสุด ๆ ประหนึ่งซูเปอร์ไซย่านั่นเลย

อีกอย่างหนึ่งที่มีส่วนสำคัญมากสำหรับโปรเจ็กต์นี้คือ รองเท้าของนักวิ่งทั้งสามคน เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดชื่อว่า Zoom Vaporfly Elite รุ่นนี้เป็นรุ่นพิเศษ ไม่มีวางขายทั่วไป มีการ customized ให้เข้ากับนักวิ่งแต่ละคน ไม่ว่าจะสไตล์การวิ่ง หรือช่วงก้าว น้ำหนักโคตรเบา อัปเปอร์ทำจาก flyknit ส่วนตัว midsole ทำจากวัสดุชนิดใหม่ที่เคลมว่าสามารถคืนพลังงานได้ดีกว่าวัสดุประเภทอื่นถึง ๑๓% แถมด้านในรองเท้ายังมีแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ที่จะคอยส่งแรงให้พุ่งไปข้างหน้าด้วย (รายละเอียดดูจากภาพกับในคลิปดีกว่า)

Conclusion

เป็นที่น่าเสียดายว่าความพยายามครั้งแรกนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โดย Eliud Kipchoge วิ่งทำเวลาดีที่สุดในสามคนที่ ๒:๐๐:๒๕ ยังทำลายกำแพงสองชั่วโมงไม่ได้ และถึงแม้ว่าเวลานี้จะดีกว่าสถิติโลกปัจจุบันแต่ก็ไม่ได้รับการรับรองเป็นสถิติใหม่นะฮะ เพราะการวิ่งครั้งนี้ไม่เข้าข่ายการรับรองสถิติอย่างเป็นทางการ

หลังจากนี้ nike คงจะเอาผลที่ได้ไปปรับปรุงและพัฒนาต่อเพื่อที่จะกลับมาใหม่ในครั้งต่อไป ซึ่งทางฝั่ง adidas เองก็คงจะไม่อยู่เฉย เราอาจได้เห็นความคืบหน้าของโปรเจ็กต์ Sub2 ของค่าย adidas กันในเร็ววันนี้

หมายเหตุ : จริง ๆ ยังมีเรื่องอื่นที่น่าเขียนถึงอีก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ twitter ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ครั้งนี้ หรือกระบวนการมาร์เก็ตติ้งของ nike ที่สามารถตรึงคนทั่วโลกให้จดจ่ออยู่กับอีเวนต์นี้ได้ตลอดสองชั่วโมงเต็ม รวมไปถึงรายละเอียดของรองเท้ารุ่นที่จะนำออกวางขายเอาทุนคืน เอ๊ย ให้นักวิ่งได้ซื้อมาสวมใส่เพื่อทำลายสถิติส่วนตัวกัน ทั้งหลายทั้งปวงนี้หากใครสนใจก็ลองหาข้อมูลกันดูนะฮะ นี่ยาวมากแล้ว สวัสดีครับ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: