ดีลล้ม คนล้ม

เมื่อ ๒๕ ปีที่แล้วมีการประกาศดีลยักษ์ใหญ่ในแวดวงการเงินการธนาคาร

เป็นดีลใหญ่ที่เหลือเชื่อและไม่น่าเป็นไปได้ด้วยการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจการเงินที่หวือหวา มาแรงและทรงพลังที่สุดในยุคนั้น

ทว่าหลังจากการตรวจสอบฐานะกิจการ หรือ due diligence นานหลายเดือนก็มีการประกาศยกเลิกดีลนี้

ดีลล้ม

หลังจากนั้นอีกไม่นานกลุ่มธุรกิจการเงินรายดังกล่าวก็ประสบปัญหาฐานะการเงิน กิจการไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ถูกทางการเข้าตรวจสอบ มีการตั้งข้อหาเพื่อจะดำเนินคดีคณะผู้บริหาร ซึ่งสุดท้ายแล้วหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ

ปิดฉากบทบาท King of Finance ของไทยไปเพียงเท่านี้ มิต่างจากดาวตกที่ส่องประกายจรัสฟ้า แต่เจิดจ้าแค่เพียงช่วงเวลาไม่นาน

หมายเหตุ นี่กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อ ๒๕ ปีก่อนนะฮะ ย้ำกันอีกที

ดูคลิปแล้วย้อนอดีตถึงเครื่องพิมพ์ดีด

 

 

 

ดูคลิปนี้แล้วนึกย้อนอดีตไปตอนเริ่มทำงานเมื่อปี เอ่อ… ปีอะไรช่างมันเถอะ ตอนนั้นออฟฟิศยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ต้องใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ต้นฉบับส่งให้บ.ก. (ที่ไม่ได้ย่อมาจาก บ้ากาม)

เครื่องพิมพ์ดีดที่ใช้ตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นโอลิมเปียกระเป๋าหิ้ว ซึ่งเราสามารถวัดระดับความชำนาญ (และความเร่งรีบปิดต้นฉบับให้ทันเดดไลน์) ได้จากเสียงรัวแป้นพิมพ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันปิดเล่มที่เสียงรัวแป้นจะดังกระหน่ำมาก ถ้าใครต้องโทรสัมภาษณ์แหล่งข่าวนี่แทบต้องมุดลงไปคุยใต้โต๊ะโน่น เพราะต้องใช้โทรศัพท์ออฟฟิศที่โต๊ะ เรื่องจะใช้โทรศัพท์มือถือนี่อย่าพูดถึง ตอนนั้นมีออกมาแล้วแต่ราคาตัวละแสน!! เพราะฉะนั้นเจ้าอย่าหวัง

หลังจากนั้นปีนึงออฟฟิศลงทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในกองบ.ก. เป็น Macintosh ไม่แน่ใจเรื่องรุ่น แต่น่าจะเป็น Macintosh Plus ซึ่งแม่งเหมือนฝันที่เป็นจริง เพราะตอนใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรกเริ่มหัดโปรแกรมมิ่งจาก Apple II พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตอนเรียนก็ยังไม่มีโอกาสได้แตะเครื่อง mac เลยซักที แต่เวลานั้นเศรษฐกิจดีเศรษฐกิจกำลังบูมทำให้มีวาสนาได้ใช้เครื่อง mac ทำงาน ไฮโซสัส 5555

พอออฟฟิศซื้อเครื่องคอมพ์มาใช้แล้วนั่นแหละถึงได้ห่างหายจากโอลิมเปียที่รักไปจนแทบจะกลายเป็นของหายาก เป็น rare item ไปนะฮะ… 🤟🤩

เขียนถึงพี่นก ไพเราะ บ.ก. Positioning

เข้านี้มีข่าวร้ายส่งมาทางกล่องข้อความ

พี่นก ไพเราะ บ.ก. Positioning เสียชีวิตแล้วเมื่อตอนตีสามที่ผ่านมา

อ่านแล้วก็ร้อง เฮ้ย!! ไม่น่าเชื่อ ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ก็เป็นเรื่องจริงครับ นี่เป็นความสูญเสียบุคลากรสื่อด้านเศรษฐกิจที่น่าใจหายที่สุดคนนึงเลยทีเดียว

ผมมีโอกาสได้ทำงานกับพี่นกอยู่ช่วงนึง ในปี ๒๕๓๕ หลังจากเริ่มทำงานมาได้ระยะหนึ่ง ผมย้ายสังกัดมาอยู่ผู้จัดการรายวัน เป็นนักข่าวไอที มีพี่นกเป็นหัวหน้าโต๊ะ

ยุคนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของไอที ทั้งในวงการคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม มีผู้เล่นรายใหญ่ รายใหม่ เกิดขึ้นมากมาย สัมปทานวิทยุติดตามตัวเกิดขึ้นแล้ว ทั้งแพคลิ้งค์ โฟนลิ้งค์ โทรศัพท์มือถือเริ่มให้บริการแล้ว ซีพีได้สัมปทานโทรศัพท์สามล้านเลขหมายแล้ว

บริษัทสื่อสารเริ่มเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เกิดเป็นกลุ่มทุนสื่อสาร กลุ่มทุนใหม่ที่หวือหวา มีพลัง การแข่งขันสูง ซึ่งทำให้การทำข่าวในช่วงนั้นสนุกมาก มีการแถลงข่าวกันแทบทุกวัน

แต่ตลอดเวลาที่ทำงานกับพี่นกเป็นช่วงที่กดดันมาก มีความรู้สึกว่าทำงานเท่าไหร่ก็ยังไม่ดีซักที กูยังไม่เก่งพอ เพราะการทำข่าวให้ถูกใจพี่นกไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างก็ได้ ขนาดงานง่าย ๆ อย่างการทำข่าวตามงานแถลงก็ไม่เคยง่ายอย่างที่คิด เพราะการทำงานไม่ได้เริ่มตอนที่ไปถึงสถานที่แถลงข่าว แต่เริ่มตั้งแต่วันที่ได้รับหมายข่าวแล้วครับ

หมายความว่า ถ้าวันนี้เราได้รับแจ้งว่า วันพรุ่งนี้จะมีงานแถลงข่าวของบริษัทอะไรซักงานนึง พี่นกจะตั้งเป้าไว้เลยว่า เราจะต้องเช็คให้ได้ตั้งแต่วันนี้ว่าเป็นเรื่องอะไร เพื่อเขียนลงหนังสือพิมพ์วันนี้ แล้วไปขิงนักข่าวเล่มอื่นตอนไปงานวันพรุ่งนี้

แล้วพี่นกไม่ใช่หัวหน้าประเภทสั่งให้น้องทำแต่ตัวเองไม่ทำนะครับ แกทำยิ่งกว่าที่แกบอกให้เราทำอีก นี่ยังไม่รวมเรื่องความอึดในการตามแหล่งข่าว รอแหล่งข่าวและตื๊อแหล่งข่าว ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้แหล่งข่าวรู้จักและจดจำพี่นกได้เป็นอย่างดี ในระดับที่เรียกชื่อเล่นเลย เอ่ยนามซีอีโอธุรกิจสื่อสารในยุคนั้นมาเถอะ ทุกคนรู้จักพี่นก

เพราะฉะนั้นเวลาพี่นกให้ทำอะไร เราเถียงไม่ได้เลย เราไม่สามารถเถียงในใจได้เลยว่า แน่จริงเมิงมาทำเองสิ!! เพราะพี่นกทำเองและทำมากกว่าที่เราทำทุกเรื่อง

ถ้าสรุปง่าย ๆ ในโลกนักข่าวที่เป็นกะลาใบเล็กของผม ผมยกให้พี่นกคนเดียวว่าในทางวิชาชีพชีวิตนี้กูยอม ไม่เคยคิดสู้เลย

ช่วงหลัง ๆ มานี้เวลามีใครมาถามหาคนไปทำงาน อยากให้ recommend ใคร คนที่ recommend ได้อย่างมั่นใจ พูดได้เต็มปากที่สุดก็พี่นกนี่แหละ แต่พี่นกทุ่มเวลาและพลังงานในการทำงานให้กับ Positioning ทั้งหมด

วันนี้พี่นกไม่ต้องเหนื่อยอีกแล้วนะครับพี่…

นาฬิกา ROTARY อยู่ด้วยกันมาเกือบ ๓๐ ปี

Rotary wrist watch

เห็นข่าวนายทหารใหญ่กับนาฬิกาแล้วเราก็เห็นใจนะ หัวอกคนรักนาฬิกาเหมือนกัน ความผูกพันมันมี ขอเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเผื่อประชาชนจะเข้าใจท่านมากขึ้น

นาฬิกาเรือนนี้เป็นนาฬิกาเก่าเก็บ เก็บเงินซื้อตั้งแต่สมัยเรียน ถึงตอนนี้อยู่ด้วยกันมาก็เกือบ ๓๐ ปีแล้ว เป็นนาฬิกาจักรกลแบบไขลาน เรือนกลม เคลือบทอง สามเข็ม

บนหน้าปัดมีข้อความบอกแค่ยี่ห้อ ROTARY พร้อมโลโก้อยู่ด้านบน ตรงกลางมีข้อความ 17 Jewels (หมายถึงมีทับทิม หรืออย่างอื่นก็ไม่รู้นะ ช่วยในการลดความฝืดของกลไกอยู่ ๑๗ เม็ด) ด้านล่างบอกไว้ว่า SWISS MADE

ใช้นาฬิกาเรือนนี้สลับกับอีกเรือน (เรือนนั้นเป็นจักรกลแบบออโตเมติก) มาตลอดตั้งแต่เรียนจนถึงทำงาน จนกระทั่งเลิกใส่นาฬิกาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพราะรู้ตัวว่าถ้าไม่เลิกกูโดน OMEGA Speedmaster แน่ ๆ

ตอนที่หยิบนาฬิกาเรือนนี้ออกมาจะถ่ายรูป พอหมุนไขลานมันก็เดินได้ตามปกติทั้งที่ไม่ได้ดูแลไม่ได้อะไรมาสิบกว่าปีอย่างที่ว่าไปข้างต้น (แต่จริง ๆ ควรจะมีบำรุงรักษาบ้างนะ) อันนี้เป็นเสน่ห์ของโลกแอนาล็อกที่โลกดิจิทัลยังไม่สามารถทำได้ เหมือนอย่างสโลแกนของ Patek Philippe นั่นแหละ

You never actually own a Patek Philippe. You merely look after it for the next generation.

เหยดดดดดดดดดด กราบคนคิด…

หมายเหตุ จริง ๆ อยากหาแหวนเพชรมาใส่ถ่ายรูปด้วย พร็อพจะได้ครบ แต่จนใจที่ไม่มี ขอยืมใครเขาก็ไม่ให้ ก็เลยได้แค่นี้นะฮะ เยิฟ เยิฟ

นาฬิกาหรูกับการทำธุรกิจ

watch

เห็นข่าวนายทหารใหญ่ใส่นาฬิกาหรูแล้วนึกถึงเรื่องนี้

เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน (จำปีแน่ ๆ ไม่ได้ แต่อยู่ในช่วง ๒๕๓๕ – ๒๕๓๗) ได้รับมอบหมายให้ไปดักทำข่าวนักธุรกิจใหญ่ในแวดวงตู๊ด ตู๊ด (ไม่ได้พิมพ์ผิดแต่เซ็นเซอร์ดูดเสียง) คนหนึ่งที่ไปกล่าวบรรยายที่สโมสรตู๊ด ตู๊ด

วันนั้นมีนักข่าวที่รู้กำหนดการและตามไปดักทำข่าวแค่สองคน คือ เรากับน้องอีกคนที่ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันที่ไม่ได้เป็นคู่แข่งกันโดยตรง

การบรรยายวันนั้นไม่ได้เป็นความลับอะไร ทางเจ้าหน้าที่เลยให้เราสองคนเข้าไปนั่งฟังระหว่างรอทำข่าวและคิดว่านักธุรกิจใหญ่คนที่ว่าก็ไม่รู้ว่ามีนักข่าวนั่งอยู่ในห้องด้วย

เนื้อหาหลักของการบรรยายจำไม่ได้แล้ว แต่จำเรื่องนี้ได้แม่น

ในช่วงหนึ่งของการบรรยาย นักธุรกิจใหญ่เล่าว่า การทำธุรกิจที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการ ต้องขอใบอนุญาต ทำให้มีรายจ่ายยิบย่อยตามมามากมาย และในตอนที่เริ่มต้นทำธุรกิจก็ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังอะไร (ตอนที่บรรยายน่ะรวยแล้วและต่อมาก็รวยโคตร ๆ ยิ่งขึ้นไปอีก)

ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการไปฮ่องกง กวาดซื้อนาฬิกา Rolex ปลอม เอามาเป็นของขวัญของกำนัลให้กับคนที่ต้องติดต่อด้วย ซึ่งคนที่รับไปก็ไม่รู้หรอกว่านั่นน่ะของปลอม

ถึงตรงนี้ ทั้งคนพูดและคนฟังก็หัวเราะกันสนุก

หลังจากนั้นคงมีคนไปบอกนักธุรกิจใหญ่ว่ามีนักข่าวมานั่งหัวหลิมฟังอยู่ด้วย ก็เลยส่งคนมาเจรจาอย่างสุภาพว่า ขอให้พิจารณาความเหมาะสมในการนำเสนอข่าวด้วย เรื่องอะไรที่พูดในห้องนี้ก็ขอให้อยู่ในห้องนี้

วันนี้เอามาเล่าเพราะเห็นว่าเวลาผ่านไปนานมากแล้ว ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรถึงใครอีกแล้ว ก็ถือเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการทำธุรกิจยุคก่อน ซึ่งสมัยนี้ก็คงไม่มีใครทำอะไรแบบนี้กันแล้วนะฮะ…

บัณฑูร ล่ำซำ ได้อะไรจากการ Reengineering ธนาคารกสิกรไทย

ข้าพเจ้าได้อะไรจากการ Reengineering ธนาคารกสิกรไทย โดย บัณฑูร ล่ำซำ

วันก่อนครับ นึกคึกอะไรขึ้นมาซักอย่างไปนั่งรื้อ ๆ ค้น ๆ ของเก่าเก็บจากการทำงาน เจอเทปม้วนนี้ครับ (ตามภาพด้านบน) พลิกดูด้านหลังลงวันที่เอาไว้ว่า บันทึกมาจากงาน Thailand Lectures ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๘

จากวันนั้นถึงวันนี้รวมเวลา ๒๒ ปีกับ ๒ เดือนพอดี (เลขสวย แทงหวยดีกว่า!!) อะไร ๆ เปลี่ยนไปมากมาย ก่อนที่จะเล่าถึงเนื้อหาในเทปม้วนนี้ ขอเล่านอกเรื่องก่อนละกัน

ประการแรก เทปม้วนนี้เป็นอภินันทนาการจาก โครงการวิทยุผู้จัดการ ฟังชื่อนี้หลายคนคงงง ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ค่ายผู้จัดการ “สยายปีก” มาทำวิทยุด้วยนะครับ อยู่ที่คลื่น ๙๗.๕ โดยมีคุณรุ่งมณี เมฆโสภณ ที่กลับมาจาก BBC ที่อังกฤษมารับหน้าที่หัวเรือใหญ่ เนื้อหาของรายการต่าง ๆ ก็จะเป็นการรายงานข่าว การวิเคราะห์ข่าว การสัมภาษณ์แหล่งข่าว ฯลฯ รวมไปถึงรายการเพลงคลาสสิกก็มีนะ ทำเป็นเล่นไป

คนที่เคยจัดรายการที่นี่หลายคนต่อมาก็ไปเติบโตมีชื่อเสียงโด่งดังกัน อย่างเช่น คุณธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย และคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ครั้งหนึ่งก็เคยร่วมกันจัดรายการ MBA On Air อยู่ที่นี่ ก่อนที่คนแรกจะไปโด่งดังกับการเป็นคอมเมนเตเตอร์ในรายการ SME ตีแตก ส่วนคนหลังก็ก้าวไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Open

โครงการวิทยุผู้จัดการปิดตัวไปตอนไหน อันนี้ผมจำไม่ได้แล้ว ต้องรอผู้รู้ที่มีข้อมูลแน่ ๆ มาบอกกันอีกทีนะฮะ

พูดถึงค่ายผู้จัดการ รวมทั้งตัวคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้เป็นเจ้าสำนักด้วย หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่าเมื่อก่อนเคยยิ่งใหญ่ขนาดไหน ขอเล่าให้ฟังคร่าว ๆ เท่าที่รู้ก็คือ นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นหัวผู้จัดการ ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือนแล้ว คุณสนธิยังมีความฝันที่จะสร้างสื่อที่ก้าวไปยืนในระดับภูมิภาคได้ จึงเป็นที่มาของหนังสือพิมพ์ Asia Times และนิตยสาร Asia Inc. ซึ่งเป็นสื่อภาษาอังกฤษ

ส่วนตัวของคุณสนธินั้น เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทในตลาดหุ้นหลายแห่งด้วยกัน นอกจากบริษัท ผู้จัดการ แล้ว ยังมีโรงพิมพ์ตะวันออก ที่เป็นโรงพิมพ์ใหญ่ระดับประเทศ มีบริษัท ไออีซีซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ในเวลานั้น (ถ้าจำไม่ผิด ในยุครุ่งเรืองบริษัทนี้สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศจ่ายเงินโบนัสพนักงาน ๓๖ เดือนนะฮะ) มีบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) อันนี้จำชื่อไม่ได้แล้ว มีโครงการสร้างโรงแรมระดับหรูที่เวียงจันทน์ และอภิมหาโปรเจ็กต์คือ ดาวเทียมสื่อสารของประเทศลาว ในชื่อ ลาวสตาร์

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี่แค่ส่วนหนึ่งของอาณาจักรของคุณสนธิ ซึ่งพอเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในอีกไม่กี่ปีต่อมาภาพที่เล่ามานี่ก็เป็นอดีตไปนะครับ

ประการที่สอง งาน Thailand Lectures นี้จัดที่ Regent Bangkok ซึ่งในวันนี้เปลี่ยนชื่อไปเป็น Four Seasons เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งโรงแรมหรูแห่งนี้ได้กลายเป็นที่หมายปองของกลุ่มทุน จนเกิดการแย่งซื้อหุ้นกันระหว่างทุนต่างชาติและทุนต่างชาติที่อยู่ในไทย (งงมั้ย คือ เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย) เรื่องราวตอนนั้นสนุกมากและตัวละครที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้คนนึงต่อมาเข้ามาเล่นการเมืองและประสบความสำเร็จได้เป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนะฮะ

ประการต่อมา คุณบัณฑูรมาพูดอะไรเรื่อง Reengineering? เป็นนายแบงก์มาพูดเรื่องวิศวะเหรอ?

สำหรับคนที่เกิดไม่ทัน (หรือเกิดทันแต่โตไม่ทัน เพราะยังใส่ขาสั้น คอซองอยู่นะฮะ) เรื่อง Reengineering เป็นเรื่องที่โด่งดังมากในประเทศไทยเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว (ขอไม่ลงรายละเอียดเรื่องนี้นะ ใครอยากรู้เพิ่มเติมลองเสิร์ชดู ชื่อ Michael Hammer ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวงแฮมเมอร์ของไทย) แล้วก็เป็นกระแสเปรี้ยงปร้างออกสื่อ มีคนพูดถึงเกือบทุกวันทั้งในภาครัฐและเอกชนก็เพราะคุณบัณฑูร นั่นล่ะ ที่ลุกขึ้นมา reengineering ธนาคารกสิกรไทยหลังจากที่รับหน้าที่กรรมการผู้จัดการได้ไม่นาน

ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ไทยในยุคนั้นจะเอาระบบคอมพิวเตอร์มาใช้งานแล้ว แต่คุณภาพการบริการและระบบงานต่าง ๆ ยังมีหลายขั้นตอน การไปแบงก์ในยุคนั้นแทบไม่ต่างอะไรกับไปติดต่อหน่วยราชการสักแห่ง ภาพที่จำติดตาก็คือ คนแน่น นั่งรอกันเต็มแบงก์ไปหมด จนมีคนตั้งสโลแกนถึงการไปแบงก์ในเวลานั้นว่า “จะฝากจะถอน เอาหมอนไปด้วย”

จนกระทั่งคุณบัณฑูรลุกขึ้นมา reengineering แบงก์กสิกรไทยนี่แหละ ลูกค้าที่เคยนั่งรอกันแน่นอยู่ในสาขาก็ลดน้อยลง เพราะให้บริการได้เร็วขึ้น พนักงานรู้สึกยังไงไม่รู้ รู้แต่ลูกค้าแฮปปี้

ความสำเร็จของการ reengineering ธนาคารกสิกรไทยทำให้คุณบัณฑูรดังเปรี้ยงปร้างมาก ใคร ๆ ก็อยากฟังเรื่องนี้ สื่อก็อยากสัมภาษณ์เรื่องนี้ แล้วก็เกิดเป็นกระแสใคร ๆ ก็อยากทำ reengineering ภาคเอกชนก็อยากทำ กระทั่งหน่วยงานรัฐยังอยากทำ เพราะทุกคนรู้สึกว่า พ อ พูดเรื่องนี้แล้วมันเท่ มีคนสนใจ สื่อลงข่าว ถ้าอยู่ในตลาดหุ้น หุ้นก็ขึ้น ขนาดนั้นเลยนะ

ก็เลยกลายเป็นทุกขลาภของบัณฑูร เพราะทุกคนก็ล้วนอยากฟังว่า การ reengineering นี่มันทำยังไง? แล้วคุณบัณฑูรซึ่งมีประสบการณ์ตรง ทำมาแล้วเนี่ย ทำยังไง? ต้องเดินสายออกไปพูดที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง รวมถึงที่งาน Thailand Lectures อันเป็นที่มาของเทปม้วนนี้

ส่วนเนื้อหาภายในเทปว่าคุณบัณฑูรพูดอะไรบ้างนั้น แน่นอน ขอยกไว้โอกาสหน้านะฮะ… ❤

ข้าพเจ้าได้อะไรจากการ Reengineering ธนาคารกสิกรไทย โดย บัณฑูร ล่ำซำ

นิตยสารผู้จัดการ เมษายน ๒๕๔๙ : กานต์ ตระกูลฮุน

นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเมษายน ๒๕๔๙

สิ้นปีนี้คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี จะเกษียณอายุและส่งต่อตำแหน่งให้กับคนต่อไป หากนับจากวันที่เข้ารับตำแหน่งต่อจากคุณชุมพล ณ ลำเลียง เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๙ เท่ากับว่าคุณกานต์อยู่ในตำแหน่งนี้มาสิบปีเต็ม

นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๔๙ ขึ้นปกด้วยเรื่อง กานต์ ตระกูลฮุน SCG Culture Change นับเป็นสื่อแรกที่ได้สัมภาษณ์พิเศษคุณกานต์ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยทีมงานได้ติดต่อขอสัมภาษณ์คุณกานต์ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี ๒๕๔๘ และวางแผนจะให้เรื่องนี้ลงในฉบับมกราคมเพื่อรับกับการเข้ารับตำแหน่งพอดี แต่คุณกานต์ปฏิเสธด้วยเหตุว่า การให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ยังไม่ได้รับตำแหน่งดูจะเป็นการไม่เหมาะสม กำหนดการดังกล่าวจึงต้องเลื่อนมาเป็นฉบับเมษายนแทน

การเข้ารับตำแหน่งของคุณกานต์ได้รับการจับจ้องมากพอดู สาเหตุสำคัญเป็นเพราะคุณกานต์เข้ามารับช่วงต่อจากคุณชุมพล ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างมากในแวดวงธุรกิจบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้นำการพลิกฟื้นฐานะของเอสซีจีจากที่เรียกได้ว่า เจ๊งไปแล้ว เมื่อครั้งเจอวิกฤติต้มยำกุ้งจนกลับมามีฐานะมั่นคงได้อีกครั้ง

ประการที่สอง การเปลี่ยนผู้บริหารของเอสซีจีครั้งนี้ไม่ได้เพียงคนเดียว แต่เป็นการเปลี่ยน ยกชุด เพราะคณะจัดการชุดคุณชุมพลพร้อมใจกันเกษียณอายุก่อนกำหนดพร้อมกันทั้งคณะ เท่ากับว่าคุณกานต์ต้องเลือกขุนพลคู่กายขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่ก็ไม่ถือว่าโดดเดี่ยวจนเกินไปนัก เพราะพี่ๆ ที่เกษียณไปก็ยังทำหน้าที่ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำอยู่

ในเล่มนี้ นอกจากคุณกานต์จะให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดและนโยบายการทำธุรกิจแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องครอบครัวอีกด้วย

สำหรับภาพปก ถ่ายกันที่อาคารสำนักงานใหญ่เอสซีจี ที่บางซื่อ เป็นผลงานของคุณจันทร์กลาง กันทอง ซึ่งวันนี้ก็ยังทำงานอยู่ที่เอเอสทีวี ผู้จัดการ แต่ก็มีผลงานไปปรากฎตามที่ต่างๆ รวมทั้งมีผลงานที่ชนะการประกวดด้วย

นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม ๒๕๔๘ : New era of Banking Industry

นิตยสารผู้จัดการ ฉบับกรกฎาคม ๒๕๔๘ : New era of Banking Industry

เมื่อสิบปีที่แล้ว นิตยสารผู้จัดการ ฉบับกรกฎาคม ๒๕๔๘ ทำเรื่องการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยเป็นเรื่องจากปก

ในการทำงานต้องสัมภาษณ์กรรมการผู้จัดการและประธานของหกธุรกิจสำคัญ เพื่อนำเสนอเรื่องราวให้ครบถ้วนสมบูรณ์

สำหรับภาพปกก็เป็นภาพของกรรมการผู้จัดการและประธานของทั้งหกธุรกิจสำคัญด้วยเข่นกัน

ภาพนี้ถ่ายที่อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่างภาพต้องเซ็ตตำแหน่งและท่ายืนของผู้บริหารทุกคนเตรียมไว้ เมื่อพร้อมแล้วจึงตามคุณปั้นมาเข้าฉากและถ่ายภาพ

สิบปีผ่านไปคนในภาพนี้หลายคนไม่ได้อยู่ที่ KBANK อีกแล้ว อาทิ

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ลาออกไปเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย และปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการ ปตท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ลาออกไปเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นประธานอนุกรรมการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
คุณรพี สุจริตกุล ปัจจุบันเป็นเลขาธิการ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ส่วนนิตยสารผู้จัดการ ปัจจุบันไม่ได้พิมพ์ออกมาเป็นเล่มอีกแล้ว แต่แปลงสภาพเป็นสื่อดิจิทัลตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแวดวงสื่อสารมวลชน แฟนๆ รุ่นเก่าอาจไม่ชินก็เลยไม่ได้ตามไปอ่านต่อ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่รู้จัก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับนิตยสารธุรกิจฉบับนี้ครับ