The Fifth Risk โดย Michael Lewis
มาครับ อ่านจบแล้วมาเล่าสู่กันฟัง
ครั้งนี้เป็นหนังสือ The Fifth Risk ของเฮีย Michael Lewis คนเขียน The Liar’s Poker The Blind Side The Big Short และอื่น ๆ อีกหลายเล่มนะครับ
หนังสือเล่มนี้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเอาจริง ๆ ก็คือ ไม่ได้เกิดขึ้น หลังจากที่ Donald Trump ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี ๒๐๑๖ ดูเนื้อหาเผิน ๆ เป็นเรื่องการเมืองสหรัฐฯ และการบริหารราชการของสหรัฐฯ
ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่พี่ไม่สนใจ ไม่เคยสนใจและไม่เคยคิดจะอ่านเลย (ลำพังการเมืองบ้านกูก็เหนื่อยใจอยู่แล้วมั้ย ขอถอนหายใจแป๊บ) แต่ที่ซื้อเล่มนี้และยังลัดกองดองที่มีอยู่หลายร้อยเล่มหยิบมาอ่านก่อนก็เพราะคนเขียนอย่างเดียวเลย
จากประสบการณ์ที่อ่านงานของ Lewis มา ต้องบอกว่าเฮียแกสายตาคม มองสาวนี่มีสะท้าน
ไม่ใช่! มึงอย่ามาตลก!!
เอาใหม่นะ เฮียแกสายตาคม แกเลือกประเด็นที่ดูเหมือนธรรมดา ไม่มีอะไร ไม่น่าสนใจ ไม่น่าหยิบมาเขียน หรือหนักไปกว่านั้นก็คือ แม่งแค่ฟังก็น่าเบื่อแล้ว เขียนออกมาใครจะอ่าน แต่นั่นแหละคือทีเด็ดของเฮีย เรื่องที่ดูเหมือนไม่มีอะไรอย่างที่ว่า พอผ่านปลายปากกาเฮีย (จริง ๆ น่าจะเป็นคีย์บอร์ดนะ) ออกมาแม่งกลับน่าสนใจ น่าอ่าน แถมยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นที่หยิบมาเล่าได้อีกด้วย
เฮีย Lewis เคยเล่าในการเสวนาครั้งนึงว่า นักเขียนเนี่ยเวลาไปไหนมาไหน ไปเจอใคร มักจะถูกซักว่ากำลังเขียนเรื่องอะไรอยู่ ถ้าปฏิเสธไม่ได้ก็จะบอกไปสั้น ๆ ซึ่งถ้าฟังแล้วดูน่าสนใจก็จะโดนซักให้เล่าต่ออีกและหลายคนจะไม่อยากเล่า เพราะพอเล่าไปแล้วมันเหมือนพลังในการเล่ามันถูกระบายออก เวลาไปนั่งเขียนงานก็จะไม่สามารถระเบิดฟอร์มขึ้นสุดยอดขึ้นมาได้ เพราะมันถูกระบายออกไปแล้ว เหมือนเอากระสุนจริงไปยิงสนามซ้อมหมดแล้ว ประมาณนั้น
แต่เฮีย Lewis บอกว่าแกไม่มีปัญหานี้เลย จะไปปาร์ตี้หรือดินเนอร์ที่ไหน เจอคนถามว่ากำลังเขียนเรื่องอะไร แกก็ตอบตามตรง เป็นเรื่องนักคณิตศาสตร์ที่เอาหลักสถิติมาบริหารทีมเบสบอล (Moneyball)
หรือเป็นเรื่องเด็กผิวดำยากจนที่ได้ทุนเรียนจากการเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล (The Blind Side) ซึ่งพอฟังแล้วคนในวงสนทนาก็จะอึ้ง แล้วเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น 555555
The Fifth Risk นี่ก็เหมือนกัน เฮีย Lewis เปิดขึ้นมาด้วยเหตุการณ์ที่ควรจะเกิดแต่ไม่เกิดขึ้นในสามกระทรวงหลักของสหรัฐฯ หลังจากที่ Trump ชนะการเลือกตั้ง นั่นก็คือการ (ไม่) ส่งทีมงานเข้ามาศึกษาและรับช่วงงานต่อจากรัฐบาล Obama ที่กำลังจะพ้นวาระไป
สามกระทรวงที่ว่าก็มี กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์
จากจุดตั้งต้นตรงนี้ก็จะเป็นฝีมือและสไตล์ของเฮียเขาล่ะที่จะค่อย ๆ ขยายประเด็นให้เห็นภาพในระดับ macro (ที่ไม่ใช่ห้างค้าส่ง) ยิ่งขึ้น
เฮีย Lewis พาคนอ่านไปให้เห็นถึงบทบาท หน้าที่และความสำคัญของทั้งสามกระทรวง โดยเฉพาะในส่วนของความเสี่ยง (risk) ที่จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวอเมริกัน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะรู้ตัวหรือไม่ก็แล้วแต่ (แล้วแต่อะไรเหรอ แล้วแต่มึงเลยยยยยยยยย)
และนั่นคือที่มาของชื่อหนังสือ ส่วนว่าจะมี risk อะไรบ้างนั้น อันนี้ต้องตามไปอ่านกันเองนะฮะ 😊
ในขณะที่เล่าประเด็นนี้ เราก็จะได้พบกับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ไม่มีชื่อเสียงและไม่เคยได้รับเครดิตใด ๆ จากงานที่ทำ ทั้ง ๆ ที่งานเหล่านั้นอาจส่งผลถึงความเป็นความตายของชีวิตคนจำนวนมาก
ในขณะเดียวกันก็จะได้เห็นด้านมืดของระบอบการเมืองที่ถูกทุนเข้าครอบงำ หรือเป็นไปในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทน (แบบถูกกฎหมาย)
เอ๊ะ เรื่องพวกนี้คุ้น ๆ มั้ย?
ตอนแรกที่หยิบเล่มนี้มาอ่านก็นึกว่าจะเป็นเรื่องการเมืองสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ แต่พออ่านไป ๆ ภาพในหัวมันดันมีคลื่นแทรกกลายเป็นการเมืองและรัฐบาลประเทศนึงแทรกมาตลอดเวลา
ทำไมนะ
นี่ยังดีนะที่เนื้อหาในหนังสือเขียนถึงช่วงปี ๒๐๑๖ – ๒๐๑๗ ถ้าขยับมาอีกนิดเป็นช่วงโควิดนะมึงเอ๊ยยยยยยยยยย
พี่นี่ไม่นึกถึงหน้า Trump เลยล่ะ… เลิฟ เลิฟนะฮะ ❤️