เมื่อคืนเพิ่งได้ดู Parasite
นอกจากที่ว่าเป็นหนังเกาหลีที่ได้ออสการ์และเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ (ไม่ใช่เรื่องของปรสิตหรือเอเลี่ยนอย่างที่คิดไว้ทีแรก) ก็ไม่รู้ข้อมูลไม่รู้พล็อตอะไรของหนังเรื่องนี้เลย
ดูไปก็เพลิน ๆ มี story ให้ติดตามว่ามันจะไปยังไงต่อ จนมาถึงครึ่งเรื่องเท่านั้นแหละ อห (ที่ไม่ได้ย่อมาจาก โอ้โห)
ครึ่งแรกว่าชวนให้ติดตามแล้ว ครึ่งหลังนี่แม่งยกขึ้นไปอีกระดับเลย
ความรู้สึกแบบนี้เคยเป็นมาแล้วตอนที่ดู L.A. Confidential (เรื่องที่ป้า Kim Basinger ได้ออสการ์จากบทโสเภณีชั้นสูงที่ทำหน้ามาให้เหมือนดาราฮอลลีวูด)
ดูไปนี่เดาทางไม่ถูกเลยว่าจะพาไปทางไหน เหตุการณ์กำลังไปทางนึงมึงใส่เข้าไปฉากเดียวแม่งเลี้ยวไปอีกทางเลย
การที่หนังเรื่องนี้ได้ออสการ์ Best Picture ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่แค่ความดีงามของหนังเพียงอย่างเดียว แต่เพราะมา “ถูกเวลา” ด้วย ประเด็นความเหลื่อมล้ำนี่ตอนนี้เริ่มขยายวงขยายการรับรู้สู่วงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ
การที่ได้ออสการ์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแรงบวกที่จะกระจายประเด็นนี้ให้กว้างขึ้นได้อีก อันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี 🤟
ป.ล. ตอนแรกที่เห็นชื่อเรื่องกับโปสเตอร์หนัง Parasite ใจนี่คิดว่าเป็นหนังเอเลี่ยนมาแนวมนุษย์ต่างดาวเข้ามาสิงอยู่ในร่างมนุษย์ ใช้มนุษย์เป็น host โดยที่ตัวเองเป็น parasite งี้ อารมณ์ประมาณ The Astronaut’s Wife ก็เลยเฉย ๆ กะรอดู Big Cinema ก็พอ
แม่ง ที่ไหนได้… 😂
Category: See Saw Scene
ฉากประทับใจ : Wall Street
ในโลกทุนนิยม สิ่งที่มักถูกหยิบยกมากล่าวถึงเป็นสัญลักษณ์คือ Wall Street (เนื่องจากถนนสายนี้เป็นที่ตั้งของอาคารที่ทำการตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และสถาบันการเงินชื่อดังอีกมาก) และหนังในชื่อเดียวกันนี้เองก็ได้สะท้อนภาพของโลกทุนนิยมที่ถูกขับดันด้วยความโลภไว้อย่างชัดเจน
Oliver Stone กำกับหนังเรื่องนี้ต่อจากความสำเร็จของ Platoon นักวิจารณ์หลายคนบอกว่า Wall Street ก็คือ Platoon ที่เปลี่ยนสมรภูมิจากป่าทึบที่เวียดนามมาอยู่ในป่าคอนกรีตที่นิวยอร์ก แต่ระดับของการต่อสู้ ห้ำหั่นและแย่งชิงเพื่อให้มีชีวิตรอดนั้นแทบไม่ได้ต่างกันเลย
Stone เคยเล่าถึงที่มาของการสร้างหนังเรื่องนี้ว่า เพื่ออุทิศให้กับพ่อของเขาที่เคยทำงานเป็นนายหน้าค้าหุ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และตลาดหุ้นพังพินาศทั่วโลก (เริ่มตั้งแต่ปี ๑๙๒๙ และต่อเนื่องมาถึงทศวรรษ ๑๙๓๐)
ตอนที่เริ่มเดินหน้าโปรเจ็กต์หนังเรื่องนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในยุครุ่งเรืองสุดขีด มีดีลซื้อกิจการ ควบรวมกิจการมูลค่ามหาศาลเกิดขึ้นมากมาย นักการเงินหลายคนมีสถานสภาพโด่งดังเป็นที่รู้จักไม่แพ้ดาราฮอลลีวูด ขณะเดียวกันก็มีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นมากมายอยู่หลังฉากด้วยเช่นกัน ซึ่ง Stone ได้หยิบเอาสิ่งเหล่านี้มาเล่าไว้ในหนังได้อย่างครบรส
ในหนังเรื่องนี้ก็เลยมีทั้งการทำ Leverage Buyout (LBO) มี insider trading มี hostile takeover แถมด้วยการทำ greenmail และมีโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรกๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวยในยุคนั้นปรากฎอยู่ด้วย แต่ฉากที่เด็ดที่สุดในหนังและเป็นการแสดงที่โดดเด่นมากของ Michael Douglas ตัวเอกของเรื่องคือ ฉากการประชุมผู้ถือหุ้นที่มีวลีเด็ดและเป็นวลีที่สะท้อนแนวคิดผู้คนในตลาดหุ้นยุคนั้นได้ดีที่สุด นั่นคือ
Greed is good.
วลีนี้เป็นอมตะพอๆ กับ “I am your father.” ใน The Empire Strikes Back นะครับ
และการแสดงที่เด็ดขาดของ Douglas ก็ได้ทำให้ตัวละครในชื่อ Gordon Gekko กลายเป็นที่จดจำและมักจะถูกอ้างถึงในเวลาที่กล่าวถึงคนในแวดวงวอลล์สตรีทอยู่เสมอ (ถึงขนาดที่ได้ขึ้นปก Fortune ล่ะเอ้า นี่ไปขุดกรุหนังสือส่วนตัวมาถ่ายภาพประกอบเลยนะ) ขณะที่ Douglas เองก็ได้รางวัลออสการ์ดารานำชายไปจากบทนี้ด้วย
Gordon Gekko ขึ้นปก Fortune ฉบับ June 20, 2005 (เฮ้ย นี่มันสิบปีพอดีเลยนะ Fortune เล่มนี้อ่ะ)
Wall Street โชคไม่ดีตรงที่ก่อนที่หนังจะเข้าฉายได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ Black Monday (วันจันทร์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๑๙๘๗) ตลาดหุ้นร่วงทั่วโลก ดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงไป ๕๐๘ จุด (๒๒%) เมื่อหนังเข้าฉายในเดือนธันวาคมก็เป็นช่วงที่ผู้คนรู้สึกเหม็นเบื่อกับเรื่องราวของตลาดหุ้นกันหมดแล้วทำให้หนังทำเงินได้ไม่มากนัก (๔๓ ล้านเหรียญ) แต่ต่อมาก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังชั้นดีและกลายเป็นต้นแบบให้หนังแนวเดียวกันในยุคต่อมาอีกหลายเรื่อง (โอกาสหน้ามาว่ากันต่อ) รวมทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมากเดินเข้าสู่แวดวงการเงินกันอีกด้วย
สำหรับฉาก Greed is good ที่ว่า ดูได้จากลิ้งก์ด้านล่างครับ
หมายเหตุ : เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน ผมไปเจอหนังสือที่แปลมาจากหนังสือที่เขียนขึ้นจากบทภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าโดยบังเอิญ ความที่ชอบหนังเรื่องนี้มากก็เลยซื้อเก็บไว้ และก็ไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้จากที่ไหนอีกเลย (จริงๆ คนอื่นก็คงมีแหละนะ พูดซะเว่อร์ไป) ถือว่าฟลุ๊คมาก รวมทั้งแมกกาซีนเมืองนอกที่เอา Douglas มาขึ้นปกในฐานะ Gordon Gekko ก็จะเก็บๆ เอาไว้เหมือนกันอย่าง Fortune ด้านบนครับ
ฉากประทับใจ : Jerry Maguire
หมายเหตุก่อนอ่าน : ถ้ายังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้อาจไม่ปะติดปะต่อถึงประเด็นที่เขียนถึงครับ
ในบรรดาหนังที่ดูมา Jerry Maguire เป็นหนึ่งในหนังที่ผมชอบมากที่สุด ชอบโดยที่ไม่ได้มีสเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ตื่นตาตื่นใจ ไม่ได้บู๊ล้างผลาญประเภทถล่มภูเขาเผากระท่อม แต่ชอบที่เนื้อเรื่องล้วนๆ และคิดเอาเองว่าคนที่จะดูหนังเรื่องนี้แล้วชอบเลยทันทีน่าจะต้องมีอายุสักยี่สิบปลายๆ ถึงสามสิบกว่าๆ ขึ้นไปและผ่านชีวิตการทำงานมาแล้วระยะหนึ่ง ถึงจะเข้าใจหรือมีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อเรื่องของหนังได้
ตัวผมเอง ช่วงแรกๆ ก็ชอบฉากโน้นฉากนี้ จะเพราะพระเอกเท่ หรือเพราะมันดราม่าอะไรก็ว่าไป แต่พอย้อนกลับไปดูหนังเรื่องนี้ในช่วงหลังๆ ผมกลับชอบฉากที่ Jerry คุยเปิดใจกับ Rod Tidwell ในห้องแต่งตัว (ขอเรียกว่าฉาก Help Me Help You ก็แล้วกัน) มากกว่า
สิ่งที่ Jerry คุยกับ Rod ในฉากนี้เป็นเรื่องจริงที่คนทำงานส่วนใหญ่ต้องเจอสักครั้งในชีวิต นั่นก็คือหลังจากทำงานไปได้สักพักเราจะเริ่มมองเห็นแต่ปัญหา เราจะรู้สึกว่างานที่ทำอยู่มันมีแต่เรื่องวุ่นวาย ลูกน้องก็สร้างแต่เรื่อง นายก็จะเอาโน่นเอานี่ ลูกค้าอีกล่ะ เงินเดือนก็ได้น้อย โบนัสก็น้อย กฎระเบียบก็ยุ่บยั่บหยุมหยิม อะไรกันวะ ฯลฯ
แล้วความรู้สึกดีใจอยากทำงานเมื่อตอนที่บริษัทตอบรับเราเข้ามาทำงานมันหายไปไหน เพราะงานก็งานเดิม บริษัทก็บริษัทเดิม หัวหน้าก็คนเดิมนั่นแหละ
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือใจของเราต่างหาก
ถ้าเรารักษาความรู้สึกของการทำงานวันแรกเอาไว้ได้ ทำงานทุกวันให้เหมือนกับเป็นการทำงานวันแรก เราจะสนุกและมีความสุขกับการทำงานได้ทุกวัน ไม่เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาคิดให้วุ่นวาย เหมือนกับที่ Jerry ให้ Rod ย้อนนึกถึงความรู้สึกในวันที่เริ่มเล่นอเมริกันฟุตบอลนั่นแหละครับ