หนังสือในดวงใจ ๑๐ เล่ม (ตอนที่ ๑)

My desk / September 7, 2014

สืบเนื่องจากน้องเมย์ แห่ง openrice ได้แถ่กมาในเรื่อง ๑๐ อันดับหนังสือในดวงใจ หลังจากที่ใช้เวลาพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว (แปลว่า อู้) ก็ได้มาดังรายการต่อไปนี้ครับ

(หมายเหตุ : ไม่ได้เรียงตามลำดับความชอบ ความสำคัญใดๆ ทั้งสิ้น ชอบแม่มเท่ากันหมด)

๑. หนังสือแปลของคุณสุวิทย์ ขาวปลอด

ผมได้อ่านหนังสือฝีมือแปลของคุณสุวิทย์ ขาวปลอด มาตั้งแต่ช่วงเรียนมอปลาย อ่านแล้วชอบสไตล์ เรื่องที่พี่เค้าเลือกมาแปลก็ใช่เลย บู๊ ล้างผลาญ เขย่าขวัญ สั่นประสาท อะไรแนวนี้ ตามอ่านได้สักพักมั่นใจว่าใช่แน่ ก็ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกสำนักพิมพ์วรรณวิภาของคุณพี่ เป็นแบบพรีเพด ส่งเงินไปให้ก่อน (นี่มาก่อนบริษัทมือถืออีกนะ ใครว่าวงการหนังสือเชย) เวลาหนังสือเล่มใหม่ออกก็จะส่งมาให้ที่บ้าน ทางสำนักพิมพ์ก็ตัดยอดเงินไป ให้ส่วนลดด้วย ถ้าจำไม่ผิดน่าจะ ๓๐%

วิธีนี้คนอ่านกับสำนักพิมพ์ซื้อใจกันขนาดที่ว่า คนอ่านไม่ต้องรู้ว่าเล่มหน้าจะเป็นเรื่องอะไร ของนักเขียนคนไหน ขอให้เชื่อมือเชื่อรสนิยมคุณสุวิทย์เถอะว่า ไม่มีผิดหวัง ส่วนสำนักพิมพ์ก็แฟร์ว่า ถ้าส่งไปแล้ว ลองอ่านดูแล้วคิดว่าไม่ใช่แนว ก็ส่งมาคืนได้ ไม่คิดเงินด้วย เชื่อใจกันขนาดนั้นเลย

ผมได้อ่านงานของนักเขียนดังๆ หลายคนในสมัยนั้นก็จากการแปลของคุณสุวิทย์และนักแปลคนอื่นในสำนักพิมพ์นี่เอง อย่าง Stephen King (นี่ไม่ต้องแนะนำ) Michael Crichton (นี่ดังมาตั้งนานก่อนจะมาระเบิดระเบ้อกับ Jurassic Park) Tom Clancy (พี่คนนี้ชอบเหลือเกินกับแนว techno thriller รบกันเนี่ย) ผมอ่านงานแปลของคุณสุวิทย์มาตั้งแต่เรียนมอปลาย เข้ามหา’ลัย จนจบออกมาทำงาน ต่อมาอีกหลายปีจนคิดว่าน่าจะพออ่านงานฉบับภาษาอังกฤษได้แล้วถึงได้เลิกราการอ่านงานแปลของคุณสุวิทย์ไป

ในบรรดาหนังสือแปลของคุณสุวิทย์ ขอเลือกเล่มนี้ เพราะเป็นเล่มแรกๆ ที่ได้อ่าน (ดูสภาพเอาแล้วกันว่านานแค่ไหนแล้ว) และทำให้ซื้ออ่านมาเรื่อยๆ อย่างที่ว่ามาครับ

ท้าสู้ผีนรก / Stephen King - สุวิทย์ ขาวปลอด

 ๒. On Writing โดย Stephen King

ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน จะมีหนังสืออยู่ประเภทนึงที่ผมมักจะซื้อเก็บไว้ ว่างๆ ก็หยิบมาอ่าน ตอนนี้ก็มีหลายเล่มอยู่ ก็คือหนังสือเกี่ยวกับการเขียน โดยเฉพาะถ้าเป็นนักเขียนมาเขียนเองนี่ชอบมาก แต่ในบรรดาทั้งหลายทั้งปวงที่มีชอบเล่มนี้มากที่สุด

On Writing / Stephen King

ผมได้อ่านงานของ King มานานจากการแปลของคุณสุวิทย์ (ตามที่เล่ามาในข้อ ๑) King เป็นนักเขียนเรื่องสยองขวัญที่ขายดีโคตรๆ (จริงๆ ถ้าใช้สำนวนผม อาจจะหยาบนิดนึงนะ ต้องบอกว่า ขายดีเหี้ยๆ ถ้าเจ๊ J.K. Rowling ไม่ได้พิมพ์ Harry Potter ก็น่าจะยังครองอันดับ ๑ นักเขียนขายดีที่สุดของโลกอยู่) มีนิยายและเรื่องสั้นที่เอาไปทำหนังหลายเรื่อง ที่ติดตาตรึงใจใครหลายๆ คนก็อย่างเช่น Stand By Me หรือ The Shawshank Redemption แต่เล่มนี้ King เขียนเรื่องการเขียนหนังสือบวกกับอัตชีวประวัติตัวเอง จากเด็กที่ชอบเขียนหนังสือจนโตขึ้นมาเป็นนักเขียนที่ดิ้นรนพยายามเลี้ยงชีพตัวเองด้วยงานเขียน จนมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จ

King เขียนหนังสือเล่มนี้หลังจากที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนจนเกือบเสียชีวิตและได้เล่าประสบการณ์เฉียดตายวันนั้นเอาไว้ด้วย

เล่มนี้ครั้งแรกผมซื้อเป็นฉบับปกอ่อนมาก่อน แล้วมีวันนึงไปเจอเล่มปกแข็งที่ร้านหนังสือมือสองเจ้าประจำก็เลยซื้อเก็บไว้อีก

๓. พันธุ์หมาบ้า โดย พี่ชาติ กอบจิตติ

แต่ไหนแต่ไรมาผมเป็นคนไม่อ่านหนังสือแนวเพื่อชีวิต เพื่อสังคม ชีวิตทุกข์ยาก ลำบากลำบน รวมถึงวรรณกรรมเข้มข้น จริงจัง เลยนะครับ จะหยิบอ่านก็ชวนให้หาวเรอเสียทุกครั้งไป ซึ่งพี่ชาติมาแนวนี้ เพราะฉะนั้นวางใจได้ว่าไม่เคยคิดอ่านงานของพี่เค้าเลย ยิ่งพี่เค้าได้ซีไรต์จาก คำพิพากษา ด้วยนะ ผมยิ่งมั่นใจว่าไม่ใช่แนวกูแน่ๆ

พันธุ์หมาบ้า / ชาติ กอบจิตติ

จนกระทั่งพี่เขียนพันธุ์หมาบ้าออกมานี่แหละ ทีแรกก็นึกว่าแนวนั้นแหละ เลยไม่ได้สนใจ จนกระทั่งได้อ่านคำวิจารณ์กับมีคนพูดถึง โดยเฉพาะเรื่อง “กล้วย” และ “เครื่องปอกกล้วย” ก็เลยลองไปพลิกๆ ดูในร้านหนังสือ ถึงได้รู้ว่า เฮ้ย แม่มใช่เลย เกือบพลาดแล้วกู เล่มนี้ก็เลยเป็นงานเขียนเล่มแรกของพี่ชาติที่ได้อ่าน แล้วต่อมาก็ลามไปเล่มอื่น แม้กระทั่งคำพิพากษาที่ทีแรกไม่เอาเลย สุดท้ายก็กลับมาอ่าน รวมไปถึงงานและบทสัมภาษณ์พี่ชาติหลังจากนั้นด้วย

เรียกได้ว่าพันธุ์หมาบ้าเป็นเล่มที่ทำให้ได้อ่านงานพี่ชาติและติดตามมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อสิบกว่าปีก่อนร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ จะมีจัดงานเสวนาพบนักเขียนทุกบ่ายวันศุกร์ ครั้งนึงเชิญพี่ชาติมา ผมแว่บออกไปฟังแล้วเอาหนังสือให้พี่เค้าเซ็น เป็นการขอลายเซ็นคนครั้งแรกในชีวิตอ่ะ

(หมายเหตุ : มีเรื่องนึงที่สงสัย เด็กยุคนี้ยังอ่านพันธุ์หมาบ้ากันอยู่มั้ย?)

๔. ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน โดย พี่วินทร์ เลียววาริณ

เล่มนี้ซื้อมาแล้ววางไว้ กว่าจะอ่านก็นานมาก เหตุที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองนะครับ แต่พอเริ่มอ่านแล้วสนุกมาก โคตรทึ่งที่พี่วินทร์เอาประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาเป็นแบคกราวน์แล้ววางโครงเรื่องทับซ้อนลงไป แล้วเล่าออกมาได้สนุกขนาดนี้

ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน / วินทร์ เลียววาริณ

ตอนที่อ่าน The Da Vinci Code ของ Dan Brown ยังนึกถึงเล่มนี้อยู่เลยว่ามาสไตล์คล้ายกัน เอาประวัติศาสตร์เป็นพื้นหลังแล้วเขียนเติมเข้าไป อาจจะบิดหรือเติมบางอย่างเข้าไปให้เรื่องสนุกขึ้น เล่มนี้เป็นอีกเล่มนึงที่อ่านแล้วหยิบมาอ่านซ้ำ

 ๕. งู โดย วิมล ไทรนิ่มนวล

คุณวิมลเป็นอีกคนนึงที่ผมจัดอยู่ในกลุ่มนักเขียนวรรณกรรมเข้มข้น จริงจัง แนวเพื่อชีวิต ก็เลยไม่เคยสนใจจะอ่านงานของพี่เค้าเลย โดยเฉพาะงานก่อนหน้าเล่มนี้คือ คนทรงเจ้า ดูคร่าวๆ แล้วไม่ใช่แนวแน่ๆ แต่เล่มนี้ก็มีเหตุบังเอิญไปเจอในร้านหนังสือแล้วปกสะดุดตาเลยหยิบมาพลิกๆ ดู (เป็นบทเรียนว่า ปกหนังสือ ช่วยกระตุ้นยอดขายได้นะครับ) แล้วเรื่องที่เขียนตรงกับที่ใจคิดพอดี ก็เลยซื้อมาอ่านและชอบมาก สุดท้ายก็กลับไปอ่านคนทรงเจ้าต่อนะ (เหมือนเคสพี่ชาติเลย)

งู / วิมล ไทรนิ่มนวล

งู เป็นเรื่องที่พูดถึงคนในผ้าเหลืองที่สูบกินจากสังคมรอบข้าง โดยอาศัยความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านเป็นเครื่องมือ (ฟังดูคุ้นๆ มั้ย?) จริงๆ มีประเด็นและสาระอื่นอยู่ด้วยนะ แต่ผมอ่านแล้วมีปัญญาจับมาแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว

 

ทีแรกว่าจะเขียนให้ครบทั้ง ๑๐ เล่ม แต่นี่แค่ ๕ เล่มแรกก็ยาวขนาดนี้แล้ว ที่เหลือขอเอาไว้ต่อโพสต์หน้านะจ๊ะ (แปลว่า อู้อีกแล้ว)

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ๒๕๕๗

หนังสือวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๗

เมื่อหลายวันก่อนมีข่าวแจ้งมาจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยว่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุดที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ ๗ เมษายนที่ผ่านมามียอดคนเข้างานและยอดขายภายในงานสูงกว่าปีที่แล้วอยู่ราว ๒๐% โดยประเมินว่า ยอดคนเข้างานอยู่ที่ ๑.๙ ล้านคนและมียอดขายถึง ๗๐๐ ล้านบาท

ผมเองเป็นหนึ่งในเกือบ ๒ ล้านคนที่ว่านั่น

ก่อนหน้านี้ผมว่างเว้นการไปงานสัปดาห์หนังสือฯ มาหลายปีจากหลายสาเหตุด้วยกัน มีทั้งเบื่อคนเยอะ ขี้เกียจเดินทาง ไปจนถึงเหตุผลสุดคลาสสิคสำหรับใครอีกหลายๆ คนก็คือ ซื้อมาแล้วก็ไม่ได้อ่าน เพราะเวลาไปงานสัปดาห์หนังสือฯ เรามักจะขาดความยับยั้งชั่งใจและความยั้งคิดทั้งปวง ซื้อหนังสือหอบกลับมาทีละเป็นตั้งๆ เพื่อจะพบว่า เราวางกองเอาไว้โดยไม่ได้หยิบมาอ่านซักที แล้วปีหน้ากองนั้นมันก็สูงขึ้นจากปริมาณหนังสือที่ไปหอบหิ้วกลับมาอีก

จนวันนึงถึงได้ข้อสรุปว่า พอกันที ถ้าอยากอ่านก็ซื้อเอาจากร้านหนังสือก็ได้ (วะ) ก็เลยงดไปงานสัปดาห์หนังสือฯ อย่างที่ว่า

จนกระทั่งเปลี่ยนงาน จากการทำนิตยสารธุรกิจรายเดือนมาเป็นคนรับจ้างทำหนังสือให้ลูกค้า คราวนี้ต้องเปลี่ยนบทบาทล่ะ จากเดิมเป็นคนซื้อคนอ่าน คราวนี้ต้องมาเป็นคนทำ มุมมองมันก็ต้องเปลี่ยนไป จำเป็นต้องออกไปดูโลกภายนอกเขาบ้างว่าเดี๋ยวนี้วงการเขาเป็นยังไงกันบ้าง หนังสือแบบไหนที่ขายได้ขายดีที่คนสนใจ เขาออกแบบปก อาร์ตเวิร์คเนื้อในหวือหวาน่าสนใจขนาดไหนกันแล้ว ก็คงไม่มีโอกาสไหนจะดีไปกว่างานสัปดาห์หนังสือฯ นี่แล้วล่ะ

บังเอิญว่า ผมตั้งใจไปแวะ Kinokuniya ที่สยามพารากอนก่อน เพราะมีหนังสือเล่มนึงที่ตั้งใจไปซื้อเป็นการเฉพาะ (คือ The Art of Thinking Clearly) แต่ก็นั่นแหละครับ ไปถึงก็เกิดอาการ “เฮ้ย เล่มนี้เล่มใหม่ เมืองนอกเพิ่งออกเลย เข้ามาแล้วเหรอ?” และ “เฮ้ย เล่มนี้มันอินดี้นะ เอาเข้ามาขายด้วยเหรอ?” ประมาณนั้น

สรุปว่า ตั้งใจไปซื้อเล่มเดียว จบที่ห้าเล่ม

นี่ยังไปไม่ถึงงานสัปดาห์หนังสือฯ เลยนะ แต่ก็เอาเถอะรายการหนังสือที่ตั้งใจมาซื้อปีนี้มีอยู่ไม่กี่เล่ม จดสำนักพิมพ์ จดบูธมาเรียบร้อย ไปถึงก็ตั้งใจเก็บตามรายการให้ครบก่อน หลังจากนั้นถ้ามีเวลาเหลือค่อยมาเก็บละเอียดอีกครั้ง

เช่นกันครับ จดรายการมาห้าเล่ม ไปจบที่เก้าเล่ม

ได้ข้อสรุปว่า เวลาผ่านไปหลายปีแต่อาการขาดความยั้งคิดตอนเดินซื้อหนังสือยังคงอยู่เหมือนเดิม (-_-“)

ซ่อน (Stay Close)

ซ่อน (Stay Close)

ซ่อน (Stay Close) นิยายแนวสืบสวนสอบสวนโดยฮาร์ลาน โคเบน เล่มนี้เป็นเล่มเดี่ยว ไม่ได้อยู่ในชุด Myron Bolitar และ Mickey Bolitar ที่เคยเขียนถึงมาก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีผู้ชายที่หายตัวไปเมื่อ ๑๗ ปีก่อนและผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนั้นต่างก็แยกย้ายไปดำเนินชีวิตของตัวเอง บางคนเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนาม เปลี่ยนประวัติความเป็นมาแล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ บางคนชีวิตและหน้าที่การงานตกต่ำลง

เรื่องคงจะไม่มีอะไรถ้าหากไม่ได้เกิดเหตุการณ์คนหายในลักษณะที่คล้ายคลึงกันขึ้นมาอีก แล้วก็พอดีกับตัวเอกบางตัวเกิดโหยหาชีวิตในอดีตขึ้นมา ทำให้มีการขุดคุ้ยและปะติดปะต่อเหตุการณ์คนหายทั้งสองกรณีขึ้นมาเพื่อตามหาความจริง

พลอตเรื่องและการเล่าเรื่องน่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเฉพาะตอนเฉลยตัวฆาตกรที่ต้องบอกว่าฝีมือเหนือชั้นจริงๆ เพราะความจริงมันอยู่ตรงหน้าเรานี่เอง เพียงแต่เรามองไม่เห็น

เพิ่งอ่านงานของฮาร์ลาน โคเบน มาสามเรื่อง สนุกทุกเรื่องแต่เรื่องนี้สนุกที่สุด…ขนาดนั้น

ซ่อน (Stay Close)
ผู้เขียน : ฮาร์ลาน โคเบน
ผู้แปล : มณฑารัตน์ ทรงเผ่า
สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์
ราคา : ๒๙๕ บาท

หมายเหตุ : มีจุดที่ผู้แปลแปลผิดที่หน้า ๒๙๙ เข้าใจว่าเป็นเพราะผู้แปลไม่คุ้นเคยกับสำนวนกีฬาทางฝั่งอเมริกัน หวังว่าทางสำนักพิมพ์จะมีการแก้ไขในการพิมพ์ครั้งต่อไปครับ

เฉียด (Seconds Away)

เฉียด (Seconds Away)

นิยายสืบสวนสอบสวนจากฮาร์ลาน โคเบน (Harlan Coben) ชุดนี้ตัวเอกชื่อ Mickey Bolitar ซึ่งเป็นหลานของ Myron Bolitar (ตัวเอกของชุดก่อนหน้า)

Mickey Bolitar เป็นนักเรียนมัธยมปลายที่บังเอิญสาวสวยเพื่อนร่วมโรงเรียนและแม่ถูกยิง จนแม่ของเพื่อนเสียชีวิต ก็เลยต้องออกแรงสืบเพื่อหาตัวผู้ลงมือตามแนว Whodunit โดยในระหว่างนั้นก็มีความวุ่นวายในชีวิตประจำวันตามประสาวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยมปลายเข้ามาประกอบเป็นน้ำจิ้ม

สนุกไม่แพ้ชุด Myron Bolitar นะครับ

เฉียด (Seconds Away)
ผู้เขียน : ฮาร์ลาน โคเบน (Harlan Coben)
ผู้แปล : มณฑารัตน์ ทรงเผ่า
สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์

หมายเหตุ : เล่มนี้พบจุดที่ปรู๊ฟผิดอยู่ ๓-๔ จุด คาดว่าทางสำนักพิมพ์จะแก้ไขให้เรียบร้อยถ้ามีโอกาสพิมพ์ซ้ำ

พลาด (One False Move)

พลาด (One False Move) ผู้เขียน : ฮาร์ลาน โคเบน (Harlan Coben) ผู้แปล : อริณี เมธเศรษฐ สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์ ราคา : ๒๓๕ บาท

นิยายสืบสวนสอบสวนในชุด Myron Bolitar ซึ่งเป็นชื่อของตัวเอกที่ไม่ได้เป็นตำรวจ ไม่ได้เป็นนักสืบ แต่เป็นตัวแทนนักกีฬา (แบบเดียวกับ Tom Cruise ใน Jerry Maguire) ในเล่มนี้ตัวเอกเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่ทำให้ต้องสืบหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อยี่สิบปีก่อนและส่งผลต่อเนื่องให้มีคนตายหลายคน

นอกจากพลอตเรื่องแล้วจุดที่ชอบอีกอย่างคือ ตัวเอกมีลักษณะชอบกล่าวถึงเหตุการณ์หรือคนอื่นเชิงเปรียบเทียบในแบบ “เหน็บ” และเสียดสี เช่น เอ่อ…อย่าเล่าดีกว่า ต้องอ่านเจอเอง

อ่านสนุกจนตั้งใจว่าต้องหาเล่มอื่นในชุดเดียวกันมาอ่านอีก ขนาดนั้น…

พลาด (One False Move)
ผู้เขียน : ฮาร์ลาน โคเบน (Harlan Coben)
ผู้แปล : อริณี เมธเศรษฐ
สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์

แง่มุมธุรกิจจาก The Godfather

หมายเหตุก่อนอ่าน : บทความชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับ July 2004 การนำมาโพสต์ครั้งนี้ไม่ได้มีการดัดแปลง เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงข้อความหรือเนื้อหาใดๆ ยกเว้นเปลี่ยนตัวเลขให้เป็นเลขไทย

ช่วงปลายปี ๒๕๔๕ นิตยสาร Forbes ของสหรัฐอเมริกาได้ทำการคัดเลือกภาพยนตร์ด้านธุรกิจที่ดีเด่นสุดยอด ๑๐ อันดับแรก โดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ นักวิจารณ์ คนเขียนบทและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ซึ่งถึงแม้ภาพยนตร์ด้านธุรกิจจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาพยนตร์แอคชั่นและรักโรแมนติค แต่ภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่งอย่าง Citizen Kane ก็เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวในแวดวงธุรกิจนั้นก็มีสีสันและ Story ที่ดีพอจะสร้างเป็นภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมได้เช่นเดียวกัน

ผลจากการคัดเลือกของคณะกรรมการในครั้งนั้นมีภาพยนตร์บางเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ทราบผล นั่นคือ The Godfather ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ติดอยู่ในอันดับ ๔ และ The Godfather Part II ที่ครองอันดับ ๒ เพราะเมื่อดูจากเนื้อเรื่องและแนวทางของภาพยนตร์ทั้ง ๒ เรื่องนี้แล้ว ไม่น่าจะมาติดอันดับภาพยนตร์ด้านธุรกิจได้ แต่คณะกรรมการก็ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าทั้ง ๒ เรื่องนี้เหมาะสมแล้วที่จะได้รับการจัดอันดับตามที่ประกาศออกมา

The Godfather ฉบับภาพยนตร์สร้างขึ้นจากบทประพันธ์ในชื่อเดียวกันของ Mario Puzo ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๑๒ เมื่อประสบความสำเร็จยอดขายถล่มทลายก็ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายใน ๓ ปีถัดมา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในด้านรายได้และคำชมจากนักวิจารณ์ทั่วไป ความยอดเยี่ยมในเชิงภาพยนตร์ของ The Godfather นั้นขอละเอาไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอพูดถึงแง่มุมในด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่เราพบเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้แทน

The Godfather แสดงให้เราได้เห็นว่า ในสังคมธุรกิจนั้น “เครือข่าย” หรือ Network เป็นสิ่งสำคัญมาก บทบาทของดอนวีโต คอร์เลโอเน ผู้เป็นประมุขของตระกูลคอร์เลโอเนนั้นเป็นทั้งศูนย์กลางของเครือข่ายแห่งหนึ่ง และยังเป็นตัวเชื่อมไปยังศูนย์กลาง (ประมุข) เครือข่ายแห่งอื่นอีกด้วย เราได้เห็นฉากการเจรจาระหว่างดอนคอร์เลโอเนกับประมุขตระกูลอื่นที่ประสงค์จะขอใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของคอร์เลโอเน แลกกับผลตอบแทนในรูปของส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจค้ายาเสพติด เท่ากับว่าเครือข่ายที่มีอยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็น “ทุน” ประเภทหนึ่ง ที่สามารถก่อให้เกิดธุรกิจขึ้นได้ ถ้าจะเรียกกันตามภาษาในยุคบูรณาการก็ต้องว่า “แปลงเครือข่ายเป็นทุน” นั่นเอง

สิ่งนี้ไม่ต่างจากแวดวงสังคมธุรกิจไทยมากนัก เราได้เห็นธุรกิจที่เกิดขึ้นและดำเนินไปภายใต้ปัจจัยของการเป็น “คนรู้จักกัน” จำนวนไม่น้อย ยิ่งในช่วงหลายสิบปีก่อน ที่สังคมธุรกิจไทยจะมีตระกูลใหญ่ครอบครองอยู่เพียงไม่กี่สิบตระกูลเท่านั้น เรามักได้ยินข่าวคราวการแต่งงานกันระหว่างลูกหลานของคนในตระกูลใหญ่เหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่งจุดหนึ่งก็เพื่อสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างตระกูลเพื่อช่วยเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจนั่นเอง

หรือในยุคสมัยใหม่ หลักสูตรการเรียน MBA ที่ฮิตนักหนานั้นก็มีส่วนช่วยต่อการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจได้เช่นกัน

The Godfather ยังแสดงให้ผู้ชมได้เห็นความสำคัญของ “ข้อมูล” อย่างเป็นรูปธรรม ดังในฉากที่ไมเคิล คอร์เลโอเน บุตรชายคนเล็กของดอนคอร์เลโอเนจะต้องไปเจรจาสงบศึกกับคู่อริของตระกูล ก่อนหน้าการเจรจาได้มีการสั่งการให้สืบหาสถานที่ที่จะใช้เป็นที่เจรจาโดยด่วน เพื่อจัดเตรียมอาวุธไว้ให้ไมเคิลใช้สังหารคู่เจรจาก่อนที่จะหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่ซิซิลี หากไม่สามารถหาข้อมูลสำคัญนี้มาได้หรือได้ข้อมูลที่ผิดพลาด ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นคงยากที่จะประเมินได้

ซึ่งก็นำมาสู่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำธุรกิจ คือ การเสาะแสวงหาข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สายลับ เราได้เห็นดอนคอร์เลโอเนสั่งการให้ลูกสมุนที่ไว้ใจมากที่สุดคนหนึ่งพยายามไปฝังตัวเป็นสายลับในองค์กรคู่อริ ขณะเดียวกันดอนของตระกูลคู่อริก็พยายามซื้อตัวคนใกล้ชิดของดอนคอร์เลโอเนให้แปรพักตร์ด้วยเช่นกัน เรื่องราวเหล่านี้สำหรับสังคมธุรกิจอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากเหลือเกิน รวมทั้งยังเกิดขึ้นแล้วจริงๆ หลายครั้งหลายคราในหลายองค์กรด้วยกัน

หากเรามององค์กรอาชญากรรมของตระกูลคอร์เลโอเนเป็นองค์กรธุรกิจ การตระเตรียมทายาทเพื่อรอถึงวันส่งมอบองค์กรให้ครอบครองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย เพราะเหตุที่ไม่คาดคิดหลายประการอาจเกิดขึ้นกับตัวผู้นำิองค์กรได้ทุกเมื่อ ใน The Godfather เองเราได้เห็นดอนคอร์เลโอเนพยายามสั่งสอนซันนี ผู้เป็นลูกชายคนโตให้เรียนรู้หลักการบริหารกิจการของตระกูล รวมทั้งกลเม็ดต่างๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของตระกูล

แต่เหมือนดังคำกล่าวที่ว่าเอาไว้ “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” เพราะซันนี คอร์เลโอเนต้องประสบเหตุร้ายที่คาดไม่ถึง ทำให้ไมเคิล บุตรชายคนเล็ก ผู้ซึ่งไม่เคยแสดงความต้องการที่จะมารับช่วงกิจการของตระกูลเอาเสียเลย กลับต้องมารับหน้าที่นี้ และก็เป็นไมเคิลนี่เองที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่สุดและสามารถนำพากิจการของตระกูลคอร์เลโอเนให้รุ่งเรืองและเริ่มก้าวออกจากเงามืดมาสู่ธุรกิจถูกกฎหมายมากขึ้นได้สมความใฝ่ฝันของดอนคอร์เลโอเน

นั่นแสดงให้เห็นว่า ทายาทธุรกิจที่เหมาะสมนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นบุตรคนแรกหรือผู้มีอาวุโสสูงสุดเสมอไป หากแต่ควรจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากที่สุดมากกว่า องค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยอย่างน้อยสองแห่งที่ผู้นำองค์กรคนปัจจุบันมิได้เป็นบุตรชายคนโตของตระกูล คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี และบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ผู้นำเครือสหพัฒน์ ซึ่งทั้งสองก็สามารถนำพากิจการของตระกูลให้เติบโตและขยายออกไปได้มากจนเป็นองค์กรชั้นนำของไทยในปัจจุบัน

หมายเหตุ : เมื่อกล่าวถึงแง่มุมด้านธุรกิจจาก The Godfather แล้ว ขอกล่าวถึงตัว The Godfather เองสักเล็กน้อย หนังสือ The Godfather ที่เขียนโดย Mario Puzo ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ มียอดขายรวมจนถึงวันนี้ประมาณ ๑๖๐ ล้านเหรียญ ส่วนภาพยนตร์ The Godfather ที่กำกับโดย Francis Ford Coppola ทั้ง ๓ ภาคนั้น ทำรายได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาได้ถึง ๔๕๐ ล้านเหรียญ ๑๔๕ ล้านเหรียญและ ๙๐ ล้านเหรียญตามลำดับ และได้มีการประเมินกันว่าเมื่อรวมรายได้ที่เกิดจาก The Godfather ทั้งหมด ทั้งจากยอดขายหนังสือ รายได้จากภาพยนตร์ รวมทั้วยอดขายของวิดีโอและดีวีดีและอื่นๆ แล้ว คาดว่าจะมียอดเกินกว่า ๑ พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

Corporate Thailand July 2004

[นิตยสาร Corporate Thailand ฉบับ July 2004 ที่ตีพิมพ์ข้อเขียนชิ้นนี้ครั้งแรก]

เอกยุทธ อัญชันบุตร เป็นใคร?

ช่วง ๓-๔ วันมานี้คงไม่มีใครได้พื้นที่ข่าวเท่ากับ เอกยุทธ อัญชันบุตร

เรื่องราวของเอกยุทธที่นำเสนอผ่านสื่อออกมาส่วนใหญ่บอกเพียงว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับแชร์ชาร์เตอร์เมื่อราว ๓๐ ปีก่อน แต่รายละเอียดของเรื่องนี้ก็ไม่มีมากนัก แต่คนหนึ่งที่รู้เรื่องราวของเอกยุทธดีน่าจะเป็น สนธิ ลิ้มทองกุล ที่ได้เขียนเรื่องราวของเอกยุทธลงในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๒๘ ในชื่อเรื่องว่า “เอกยุทธ อัญชันบุตร ดินที่ถูกปั้นให้เป็นดาว แล้วก็กลายเป็นธุลี”

ผมโตไม่ทันนิตยสารฉบับที่ว่า แต่โชคดีที่เมื่อหลายปีก่อนทางผู้จัดการได้รวบรวมงานเขียนของสนธิ ลิ้มทองกุลมารวมเล่มและหนึ่งในนั้นคือ เจ้าพ่อ ซึ่งมีข้อเขียนชิ้นนี้รวมอยู่ด้วย

mafia_cover

เรื่องราวในบทความนี้เล่าถึงประวัติและความเป็นมาของเอกยุทธก่อนที่จะมาเริ่มแชร์ชาเตอร์ และต่อเนื่องไปถึงเรื่องราวของแชร์ชาเตอร์ตั้งแต่ต้นจนถึงบทสุดท้ายที่ต้องล้มโต๊ะแชร์ เพราะเอกยุทธผู้เป็นเจ้ามือหายตัวไปเสียเฉยๆ คงเหลือไว้เพียงตำนานให้คนกล่าวถึงกัน

eakayuth

นอกจากเรื่องราวของเอกยุทธตามที่เล่ามาแล้ว งานเขียนในหนังสือเล่มนี้อ่านสนุกตามสไตล์สนธิ ลิ้มทองกุล โดยเฉพาะเรื่องราวของแชร์แม่ชม้อย ในชื่อ “ชม้อย ทิพย์โส วีรสตรีหรือซาตานกันแน่!” ที่ต้องบอกว่าไม่ควรพลาด

ลองหาอ่านกันดูครับ