แง่มุมธุรกิจจาก The Godfather

หมายเหตุก่อนอ่าน : บทความชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับ July 2004 การนำมาโพสต์ครั้งนี้ไม่ได้มีการดัดแปลง เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงข้อความหรือเนื้อหาใดๆ ยกเว้นเปลี่ยนตัวเลขให้เป็นเลขไทย

ช่วงปลายปี ๒๕๔๕ นิตยสาร Forbes ของสหรัฐอเมริกาได้ทำการคัดเลือกภาพยนตร์ด้านธุรกิจที่ดีเด่นสุดยอด ๑๐ อันดับแรก โดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ นักวิจารณ์ คนเขียนบทและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ซึ่งถึงแม้ภาพยนตร์ด้านธุรกิจจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาพยนตร์แอคชั่นและรักโรแมนติค แต่ภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่งอย่าง Citizen Kane ก็เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวในแวดวงธุรกิจนั้นก็มีสีสันและ Story ที่ดีพอจะสร้างเป็นภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมได้เช่นเดียวกัน

ผลจากการคัดเลือกของคณะกรรมการในครั้งนั้นมีภาพยนตร์บางเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ทราบผล นั่นคือ The Godfather ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ติดอยู่ในอันดับ ๔ และ The Godfather Part II ที่ครองอันดับ ๒ เพราะเมื่อดูจากเนื้อเรื่องและแนวทางของภาพยนตร์ทั้ง ๒ เรื่องนี้แล้ว ไม่น่าจะมาติดอันดับภาพยนตร์ด้านธุรกิจได้ แต่คณะกรรมการก็ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าทั้ง ๒ เรื่องนี้เหมาะสมแล้วที่จะได้รับการจัดอันดับตามที่ประกาศออกมา

The Godfather ฉบับภาพยนตร์สร้างขึ้นจากบทประพันธ์ในชื่อเดียวกันของ Mario Puzo ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๑๒ เมื่อประสบความสำเร็จยอดขายถล่มทลายก็ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายใน ๓ ปีถัดมา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในด้านรายได้และคำชมจากนักวิจารณ์ทั่วไป ความยอดเยี่ยมในเชิงภาพยนตร์ของ The Godfather นั้นขอละเอาไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอพูดถึงแง่มุมในด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่เราพบเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้แทน

The Godfather แสดงให้เราได้เห็นว่า ในสังคมธุรกิจนั้น “เครือข่าย” หรือ Network เป็นสิ่งสำคัญมาก บทบาทของดอนวีโต คอร์เลโอเน ผู้เป็นประมุขของตระกูลคอร์เลโอเนนั้นเป็นทั้งศูนย์กลางของเครือข่ายแห่งหนึ่ง และยังเป็นตัวเชื่อมไปยังศูนย์กลาง (ประมุข) เครือข่ายแห่งอื่นอีกด้วย เราได้เห็นฉากการเจรจาระหว่างดอนคอร์เลโอเนกับประมุขตระกูลอื่นที่ประสงค์จะขอใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของคอร์เลโอเน แลกกับผลตอบแทนในรูปของส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจค้ายาเสพติด เท่ากับว่าเครือข่ายที่มีอยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็น “ทุน” ประเภทหนึ่ง ที่สามารถก่อให้เกิดธุรกิจขึ้นได้ ถ้าจะเรียกกันตามภาษาในยุคบูรณาการก็ต้องว่า “แปลงเครือข่ายเป็นทุน” นั่นเอง

สิ่งนี้ไม่ต่างจากแวดวงสังคมธุรกิจไทยมากนัก เราได้เห็นธุรกิจที่เกิดขึ้นและดำเนินไปภายใต้ปัจจัยของการเป็น “คนรู้จักกัน” จำนวนไม่น้อย ยิ่งในช่วงหลายสิบปีก่อน ที่สังคมธุรกิจไทยจะมีตระกูลใหญ่ครอบครองอยู่เพียงไม่กี่สิบตระกูลเท่านั้น เรามักได้ยินข่าวคราวการแต่งงานกันระหว่างลูกหลานของคนในตระกูลใหญ่เหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่งจุดหนึ่งก็เพื่อสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างตระกูลเพื่อช่วยเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจนั่นเอง

หรือในยุคสมัยใหม่ หลักสูตรการเรียน MBA ที่ฮิตนักหนานั้นก็มีส่วนช่วยต่อการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจได้เช่นกัน

The Godfather ยังแสดงให้ผู้ชมได้เห็นความสำคัญของ “ข้อมูล” อย่างเป็นรูปธรรม ดังในฉากที่ไมเคิล คอร์เลโอเน บุตรชายคนเล็กของดอนคอร์เลโอเนจะต้องไปเจรจาสงบศึกกับคู่อริของตระกูล ก่อนหน้าการเจรจาได้มีการสั่งการให้สืบหาสถานที่ที่จะใช้เป็นที่เจรจาโดยด่วน เพื่อจัดเตรียมอาวุธไว้ให้ไมเคิลใช้สังหารคู่เจรจาก่อนที่จะหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่ซิซิลี หากไม่สามารถหาข้อมูลสำคัญนี้มาได้หรือได้ข้อมูลที่ผิดพลาด ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นคงยากที่จะประเมินได้

ซึ่งก็นำมาสู่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำธุรกิจ คือ การเสาะแสวงหาข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สายลับ เราได้เห็นดอนคอร์เลโอเนสั่งการให้ลูกสมุนที่ไว้ใจมากที่สุดคนหนึ่งพยายามไปฝังตัวเป็นสายลับในองค์กรคู่อริ ขณะเดียวกันดอนของตระกูลคู่อริก็พยายามซื้อตัวคนใกล้ชิดของดอนคอร์เลโอเนให้แปรพักตร์ด้วยเช่นกัน เรื่องราวเหล่านี้สำหรับสังคมธุรกิจอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากเหลือเกิน รวมทั้งยังเกิดขึ้นแล้วจริงๆ หลายครั้งหลายคราในหลายองค์กรด้วยกัน

หากเรามององค์กรอาชญากรรมของตระกูลคอร์เลโอเนเป็นองค์กรธุรกิจ การตระเตรียมทายาทเพื่อรอถึงวันส่งมอบองค์กรให้ครอบครองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย เพราะเหตุที่ไม่คาดคิดหลายประการอาจเกิดขึ้นกับตัวผู้นำิองค์กรได้ทุกเมื่อ ใน The Godfather เองเราได้เห็นดอนคอร์เลโอเนพยายามสั่งสอนซันนี ผู้เป็นลูกชายคนโตให้เรียนรู้หลักการบริหารกิจการของตระกูล รวมทั้งกลเม็ดต่างๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของตระกูล

แต่เหมือนดังคำกล่าวที่ว่าเอาไว้ “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” เพราะซันนี คอร์เลโอเนต้องประสบเหตุร้ายที่คาดไม่ถึง ทำให้ไมเคิล บุตรชายคนเล็ก ผู้ซึ่งไม่เคยแสดงความต้องการที่จะมารับช่วงกิจการของตระกูลเอาเสียเลย กลับต้องมารับหน้าที่นี้ และก็เป็นไมเคิลนี่เองที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่สุดและสามารถนำพากิจการของตระกูลคอร์เลโอเนให้รุ่งเรืองและเริ่มก้าวออกจากเงามืดมาสู่ธุรกิจถูกกฎหมายมากขึ้นได้สมความใฝ่ฝันของดอนคอร์เลโอเน

นั่นแสดงให้เห็นว่า ทายาทธุรกิจที่เหมาะสมนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นบุตรคนแรกหรือผู้มีอาวุโสสูงสุดเสมอไป หากแต่ควรจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากที่สุดมากกว่า องค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยอย่างน้อยสองแห่งที่ผู้นำองค์กรคนปัจจุบันมิได้เป็นบุตรชายคนโตของตระกูล คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี และบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ผู้นำเครือสหพัฒน์ ซึ่งทั้งสองก็สามารถนำพากิจการของตระกูลให้เติบโตและขยายออกไปได้มากจนเป็นองค์กรชั้นนำของไทยในปัจจุบัน

หมายเหตุ : เมื่อกล่าวถึงแง่มุมด้านธุรกิจจาก The Godfather แล้ว ขอกล่าวถึงตัว The Godfather เองสักเล็กน้อย หนังสือ The Godfather ที่เขียนโดย Mario Puzo ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ มียอดขายรวมจนถึงวันนี้ประมาณ ๑๖๐ ล้านเหรียญ ส่วนภาพยนตร์ The Godfather ที่กำกับโดย Francis Ford Coppola ทั้ง ๓ ภาคนั้น ทำรายได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาได้ถึง ๔๕๐ ล้านเหรียญ ๑๔๕ ล้านเหรียญและ ๙๐ ล้านเหรียญตามลำดับ และได้มีการประเมินกันว่าเมื่อรวมรายได้ที่เกิดจาก The Godfather ทั้งหมด ทั้งจากยอดขายหนังสือ รายได้จากภาพยนตร์ รวมทั้วยอดขายของวิดีโอและดีวีดีและอื่นๆ แล้ว คาดว่าจะมียอดเกินกว่า ๑ พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

Corporate Thailand July 2004

[นิตยสาร Corporate Thailand ฉบับ July 2004 ที่ตีพิมพ์ข้อเขียนชิ้นนี้ครั้งแรก]

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: