รีวิวหนังสือ The Fifth Risk

the fifth risk
The Fifth Risk โดย Michael Lewis

มาครับ อ่านจบแล้วมาเล่าสู่กันฟัง

ครั้งนี้เป็นหนังสือ The Fifth Risk ของเฮีย Michael Lewis คนเขียน The Liar’s Poker The Blind Side The Big Short และอื่น ๆ อีกหลายเล่มนะครับ

หนังสือเล่มนี้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเอาจริง ๆ ก็คือ ไม่ได้เกิดขึ้น หลังจากที่ Donald Trump ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี ๒๐๑๖ ดูเนื้อหาเผิน ๆ เป็นเรื่องการเมืองสหรัฐฯ และการบริหารราชการของสหรัฐฯ

ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่พี่ไม่สนใจ ไม่เคยสนใจและไม่เคยคิดจะอ่านเลย (ลำพังการเมืองบ้านกูก็เหนื่อยใจอยู่แล้วมั้ย ขอถอนหายใจแป๊บ) แต่ที่ซื้อเล่มนี้และยังลัดกองดองที่มีอยู่หลายร้อยเล่มหยิบมาอ่านก่อนก็เพราะคนเขียนอย่างเดียวเลย

จากประสบการณ์ที่อ่านงานของ Lewis มา ต้องบอกว่าเฮียแกสายตาคม มองสาวนี่มีสะท้าน

ไม่ใช่! มึงอย่ามาตลก!!

เอาใหม่นะ เฮียแกสายตาคม แกเลือกประเด็นที่ดูเหมือนธรรมดา ไม่มีอะไร ไม่น่าสนใจ ไม่น่าหยิบมาเขียน หรือหนักไปกว่านั้นก็คือ แม่งแค่ฟังก็น่าเบื่อแล้ว เขียนออกมาใครจะอ่าน แต่นั่นแหละคือทีเด็ดของเฮีย เรื่องที่ดูเหมือนไม่มีอะไรอย่างที่ว่า พอผ่านปลายปากกาเฮีย (จริง ๆ น่าจะเป็นคีย์บอร์ดนะ) ออกมาแม่งกลับน่าสนใจ น่าอ่าน แถมยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นที่หยิบมาเล่าได้อีกด้วย

เฮีย Lewis เคยเล่าในการเสวนาครั้งนึงว่า นักเขียนเนี่ยเวลาไปไหนมาไหน ไปเจอใคร มักจะถูกซักว่ากำลังเขียนเรื่องอะไรอยู่ ถ้าปฏิเสธไม่ได้ก็จะบอกไปสั้น ๆ ซึ่งถ้าฟังแล้วดูน่าสนใจก็จะโดนซักให้เล่าต่ออีกและหลายคนจะไม่อยากเล่า เพราะพอเล่าไปแล้วมันเหมือนพลังในการเล่ามันถูกระบายออก เวลาไปนั่งเขียนงานก็จะไม่สามารถระเบิดฟอร์มขึ้นสุดยอดขึ้นมาได้ เพราะมันถูกระบายออกไปแล้ว เหมือนเอากระสุนจริงไปยิงสนามซ้อมหมดแล้ว ประมาณนั้น

แต่เฮีย Lewis บอกว่าแกไม่มีปัญหานี้เลย จะไปปาร์ตี้หรือดินเนอร์ที่ไหน เจอคนถามว่ากำลังเขียนเรื่องอะไร แกก็ตอบตามตรง เป็นเรื่องนักคณิตศาสตร์ที่เอาหลักสถิติมาบริหารทีมเบสบอล (Moneyball)

หรือเป็นเรื่องเด็กผิวดำยากจนที่ได้ทุนเรียนจากการเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล (The Blind Side) ซึ่งพอฟังแล้วคนในวงสนทนาก็จะอึ้ง แล้วเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น 555555

The Fifth Risk นี่ก็เหมือนกัน เฮีย Lewis เปิดขึ้นมาด้วยเหตุการณ์ที่ควรจะเกิดแต่ไม่เกิดขึ้นในสามกระทรวงหลักของสหรัฐฯ หลังจากที่ Trump ชนะการเลือกตั้ง นั่นก็คือการ (ไม่) ส่งทีมงานเข้ามาศึกษาและรับช่วงงานต่อจากรัฐบาล Obama ที่กำลังจะพ้นวาระไป

สามกระทรวงที่ว่าก็มี กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์

จากจุดตั้งต้นตรงนี้ก็จะเป็นฝีมือและสไตล์ของเฮียเขาล่ะที่จะค่อย ๆ ขยายประเด็นให้เห็นภาพในระดับ macro (ที่ไม่ใช่ห้างค้าส่ง) ยิ่งขึ้น

เฮีย Lewis พาคนอ่านไปให้เห็นถึงบทบาท หน้าที่และความสำคัญของทั้งสามกระทรวง โดยเฉพาะในส่วนของความเสี่ยง (risk) ที่จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวอเมริกัน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะรู้ตัวหรือไม่ก็แล้วแต่ (แล้วแต่อะไรเหรอ แล้วแต่มึงเลยยยยยยยยย)

และนั่นคือที่มาของชื่อหนังสือ ส่วนว่าจะมี risk อะไรบ้างนั้น อันนี้ต้องตามไปอ่านกันเองนะฮะ 😊

ในขณะที่เล่าประเด็นนี้ เราก็จะได้พบกับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ไม่มีชื่อเสียงและไม่เคยได้รับเครดิตใด ๆ จากงานที่ทำ ทั้ง ๆ ที่งานเหล่านั้นอาจส่งผลถึงความเป็นความตายของชีวิตคนจำนวนมาก

ในขณะเดียวกันก็จะได้เห็นด้านมืดของระบอบการเมืองที่ถูกทุนเข้าครอบงำ หรือเป็นไปในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทน (แบบถูกกฎหมาย)

เอ๊ะ เรื่องพวกนี้คุ้น ๆ มั้ย?

ตอนแรกที่หยิบเล่มนี้มาอ่านก็นึกว่าจะเป็นเรื่องการเมืองสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ แต่พออ่านไป ๆ ภาพในหัวมันดันมีคลื่นแทรกกลายเป็นการเมืองและรัฐบาลประเทศนึงแทรกมาตลอดเวลา

ทำไมนะ

นี่ยังดีนะที่เนื้อหาในหนังสือเขียนถึงช่วงปี ๒๐๑๖ – ๒๐๑๗ ถ้าขยับมาอีกนิดเป็นช่วงโควิดนะมึงเอ๊ยยยยยยยยยย

พี่นี่ไม่นึกถึงหน้า Trump เลยล่ะ… เลิฟ เลิฟนะฮะ ❤️

ข้าราชการที่ดีนี่น่าเห็นใจนะ

ประโยคนี้แม่งใช่เลย แสดงว่าเป็นความรู้สึกร่วมในระดับสากล

ถึงพี่จะไม่เคยรับราชการและไม่เคยคิดจะรับราชการ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีคนในระบบราชการจำนวนไม่น้อยที่คอยผลักดันและสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นท่ามกลางข้อจำกัดต่าง ๆ ของระบบที่เป็นอยู่

และคนกลุ่มนี้ได้รับการรับรู้น้อยเกินไปจริง ๆ… 👍

The Fifth Risk page 111
The Fifth Risk หน้า ๑๑๑

สไตล์การปู การตบของ Michael Lewis

พี่ michael lewis แม่งเหนือชั้นว่ะ อ่านหน้านี้แล้วต้องขอโน้ตเก็บไว้หน่อย

นี่ถ้าเป็นเมื่อก่อน พี่ไม่มีทางอ่านหนังสือแล้วมาไฮไลต์มาโน้ตยังงี้แน่นอน… 😤.

The Fifth Risk page 97
The Fifth Risk หน้า ๙๗

The Fifth Risk

the fifth risk
The Fifth Risk by Michael Lewis

หลังจากจบ atomic habits ลองหยิบเล่มนั้นมาอ่านได้สิบหน้า เปลี่ยนเป็นเล่มโน้นได้สามสิบหน้า ย้ายไปเล่มนู้นได้ห้าหน้า ฟีลก็ยังไม่ใช่

ตอนนี้สรุปว่าน่าจะเป็นเล่มนี้ล่ะ… 📚

ตลาดหุ้นไทยเจอ AI หรือ Flash Boys?

เมื่อเช้ามีคนส่งรูปนี้เข้ามาในกรุ๊ปไลน์ เห็นพาดหัวข่าวลีดแล้วนึกถึงสองเรื่องนะฮะ

เรื่องแรก นึกถึงหนังสือ flash boys ของคุณพี่ michael lewis หนึ่งในนักเขียนเรื่องไฟแนนซ์ที่ดีที่สุดในโลก (อันนี้ไม่มีใครตั้ง ผมตั้งเอง)

ที่นึกถึงหนังสือเล่มนี้เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันช่างใกล้เคียงกับสิ่งที่พี่ lewis เล่าไว้ในหนังสือมาก ๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เรื่องของ AI แต่เป็นเรื่องอื่น ซึ่งเป็นการเอาเปรียบนักลงทุน

สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ลองอ่านรีวิวสั้น ๆ ดูก่อนได้ที่นี่ครับ

https://buak.net/2016/02/27/review-flash-boys-michael-lewis/

(ขายของเก่ากันหน้าด้าน ๆ หยั่งงี้แหละ 😂)

เรื่องที่สองที่นึกถึงคือ เมื่อสองสามปีก่อนตอนทำหนังสือให้ผู้หลักผู้ใหญ่คนนึง แกอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน ที่สำคัญ แกบอกว่า แกเห็นเหตุการณ์คล้าย ๆ กับในหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยด้วย

ตอนนั้นด้วยความอยากให้ชัวร์ ถามแกไปว่า รู้ได้ไง? แกตอบว่า ก็ตอนแกเคาะแป้นกดคำสั่งซื้อ/ขาย ออเดอร์อีกฝั่งมันหายไปเฉย ๆ ต่อหน้าต่อตาเลย (แกเป็นรายใหญ่ประมาณนึงนะฮะ)

ด้วยความอยากรู้อีก ถามแกว่า คิดว่าโบรกไหนที่ใช้ระบบนี้?

แกให้ชื่อมาโบรกนึง…

รีวิวหนังสือ : The Blind Side – เรื่องราวของชนชั้นที่เล่าผ่านโลกกีฬา

The Blind Side by Michael Lewis

หลังจากจบหนังสือเล่มล่าสุดของพี่ชาติ กอบจิตติ ไป (อ่านได้ที่นี่ครับ) ผมหยิบเล่มนี้มาอ่าน The Blind Side ของคุณพี่ Michael Lewis คนเดียวกับที่เขียน Flash Boys แต่เล่มนี้ออกมาก่อนหลายปีแล้ว เปิดดูที่จดไว้ถึงเห็นว่าซื้อมาตั้งแต่ปี ๕๒ นี่ปาเข้าไปปี ๕๙ แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจที่เห็นข้อความบนปกว่า กำลังจะเอาไปสร้างเป็นหนัง เล่มนี้ซื้อมาตั้งแต่ก่อนสร้างหนังอีกนะฮะ

ต้องบอกก่อนว่าผมยังไม่ได้ดูหนังที่สร้างจากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่รู้ว่าทีมงานมีการดัดแปลงบทไปจากเนื้อเรื่องแค่ไหน มีเก็บรายละเอียดประเด็นย่อยไปด้วยมั้ย ในที่นี้ก็เลยจะพูดถึงตัวหนังสืออย่างเดียวนะฮะ

พี่ Lewis เป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้น่าสนใจมากในทุกเล่มที่แกเขียน วันก่อนฟัง podcast สัมภาษณ์ Malcolm Gladwell (ซึ่งเป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องเก่งมากอีกคนนึง พี่แกสามารถเอาเรื่องยากมาย่อยให้เข้าใจได้ง่าย ๆ โคตรเทพอ่ะ) คนสัมภาษณ์ถามว่า ในความเห็นของ Gladwell ใครเป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้ดี แกตอบทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยว่า Michael Lewis แกบอกว่าอยากเล่าให้ได้แบบพี่ Lewis เลยนะฮะ นี่ขนาดมือระดับ Gladwell นะ

เล่มนี้ Lewis เล่าเรื่องเด็กวัยรุ่นผิวดำยากจนคนนึงที่บังเอิญสรีระเอื้อต่อการเล่นอเมริกันฟุตบอลในตำแหน่ง Left Tackle ซึ่งเป็นตำแหน่งที่คอยระวังป้องกันด้านซ้ายของควอเตอร์แบ็ค (ผู้เปรียบเสมือนแม่ทัพในเกมรุก) และด้วยความที่ควอเตอร์แบ็คส่วนมากจะถนัดขวา เวลาเล่นก็มักจะมองไปทางด้านขวา ทำให้ด้านซ้ายเป็นมุมบอด หรือ blind side อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือนี่เอง

ทีนี้ลำพังถ้าอยู่ของมันเองเด็กคนนี้ก็คงไปไม่ถึงไหน แต่บังเอิญมีครอบครัวอเมริกันผิวขาว ฐานะดี มีสถานภาพทางสังคมรับมาเลี้ยง ให้ที่อยู่ มีข้าวให้กิน หาเสื้อผ้าให้ใส่ ดูแลเรื่องการเรียนด้วย ทำให้ชีวิตของเด็กที่ดูแล้วไม่น่าจะไปไหนได้ไกล เพราะขนาดโตแล้วยังอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ กลับมีอนาคตขึ้นมา

ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่แค่เรื่องราวของเด็กหนุ่มคนนี้เท่านั้น แต่เฮีย Lewis ยังอธิบายให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเกมบุกและเกมรับของอเมริกันฟุตบอล รวมไปถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางข้อของ NFL (หน่วยงานกำกับดูแลและจัดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล เทียบได้กับ FIFA ในกีฬาฟุตบอลนะฮะ) เพื่อให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า ทำไมควอเตอร์แบ็คถึงมีความสำคัญมากขึ้นในเกมบุกของอเมริกันฟุตบอล และทำไมผู้เล่นในตำแหน่ง left tackle ถึงสำคัญ (และมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก) ซึ่งโยงต่อมาถึงว่า ทำไมไอ้เด็กวัยรุ่นคนนี้มันถึงเป็นที่ต้องการจากมหาวิทยาลัยทั่วทั้งสหรัฐฯ

เอาแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็สนุกแล้ว แต่ Lewis ยังแฝงประเด็นรอง (หรือจริง ๆ เป็นประเด็นหลักวะ?) คือเรื่องของชนชั้นเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ระหว่างที่อ่านเรื่องราวของวัยรุ่นผิวดำคนนี้เฮีย Lewis ก็จะแทรกเรื่องของเด็กคนอื่นให้เห็นว่า ถึงจะมีศักยภาพทางกีฬาแค่ไหน โดดเด่นแค่ไหน แต่การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี รวมถึงไม่ได้รับการสนับสนุน ผลักดัน หรือไม่มีคนเปิดประตูโอกาสให้ ก็ยากที่จะก้าวไปถึงฝั่งฝันได้

อ่านไปอ่านมาเล่มนี้กลายเป็นเรื่องของประเด็นใหญ่ทางสังคมที่น่าสนใจมาก ๆ โดยที่ใช้เรื่องของวัยรุ่นผิวดำเป็นตัวเล่าเรื่อง

โดยส่วนตัวผมอ่านเล่มนี้แล้วชอบมาก ประการแรก เรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการของอเมริกันฟุตบอลที่นำมาเล่าในเล่มนี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับตอนที่ผมดูกีฬานี้อยู่พอดี เวลาที่ Lewis พูดถึงโค้ชคนนั้น นักกีฬาคนนี้ ผมนึกภาพตามได้ไม่ยาก แถมที่สำคัญยังช่วยไขให้เข้าใจได้ว่า ทำไม Joe Montana ถึงเป็นควอเตอร์แบ็คที่ประสบความสำเร็จ ทำไม Steve Young ที่มาแทน Montana ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งที่สองคนนี้ไม่ได้มีพลังแขนโดดเด่นเท่ากับควอเตอร์แบ็คคนอื่นในยุคเดียวกันเลย รวมไปถึงได้เข้าใจว่า West Coast offense ที่เห็นบ่อย ๆ เวลาอ่านบทความหรือตอนผู้บรรยายพูดถึงเนี่ย มันคืออะไร (สำหรับคนที่สนใจ เรื่องนี้อยู่ที่หน้า ๑๑๗ นะฮะ)

ประการที่สอง เรื่องราวเด็กวัยรุ่นที่เป็นตัวเอกของเรื่องนี้น่าสนใจมากว่า จะไปได้ถึงไหน เพราะ Lewis เขียนชวนให้เราติดตาม (และลุ้น) ไปตลอดว่า อุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (ซึ่งมีเยอะด้วย) จะหยุดชีวิตของเด็กคนนี้เอาไว้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่

ประการที่สาม ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมและโอกาสที่ได้รับ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของคนแต่ละคน เรื่องนี้ไม่ต้องดูที่ไหนไกล ในประเทศไทยนี่ก็มี ข่าวคราวคนรวยทำผิดกฎหมายแต่ไม่ผิด ไม่ได้รับโทษมีอยู่บ่อยมาก ข่าวเด็กเรียนดีสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะดี ๆ ได้ แต่ไม่มีเงินเรียน เรื่องราวแบบนี้มีให้เห็นทุกปี และก็คงมีต่อไปอีกหลายปี

สิ่งที่ยากที่สุดในการอ่านหนังสือเล่มนี้สำหรับผมก็คือ การหักห้ามใจที่จะไม่เสิร์ชอินเทอร์เน็ตดูว่าชีวิตเด็กคนนี้ตอนนี้เป็นยังไง เพราะถ้าเสิร์ชดูนี่เท่ากับว่ารู้ตอนจบเลย เหมือนอ่านนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวนแต่ดันรู้ก่อนซะแล้วว่าใครเป็นคนฆ่า ความสนุกของการลุ้นระหว่างที่อ่านหมดกันพอดี ถ้าใครจะอ่านเล่มนี้ผมแนะนำไว้ก่อนเลยว่า อย่าเสิร์ชดูเด็ดขาด

สำหรับคนที่กลัวว่าไม่ได้ดูอเมริกันฟุตบอล ไม่รู้จักอเมริกันฟุตบอลแล้วจะอ่านไม่สนุก ไม่ต้องกลัวครับ อ่านแค่พอให้เข้าใจภาพรวมก็ยังสนุกได้ครับ

ขอให้มีความสุขกับการอ่านครับ ❤

 

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไปแล้วบ้าง

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๙ : Flash Boys
หนังสือเล่มที่สองของปี ๒๕๕๙ : facebook โลกอันซ้อนกันอยู่

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/

รีวิวหนังสือ : Flash Boys – เมื่อเวลา (เสี้ยววินาที) เป็นของมีค่า (มหาศาล)

Flash Boys

ตามที่เล่าไว้แล้วว่าปีนี้จะมุ่งอ่านหนังสือ non-fiction เป็นหลัก ประเดิมเล่มแรกของปีด้วยเล่มนี้ครับ Flash Boys ที่เคยมีผู้หลักผู้ใหญ่คนนึงแนะนำว่า ดี น่าอ่าน (จากโพสต์นี้ครับ) พอจบเล่มส่งท้ายปีที่แล้วเรียบร้อยก็หยิบเล่มนี้มาต่อเลย

Flash Boys เป็นผลงานของ Michael Lewis พี่คนนี้เป็นหนึ่งในนักเขียนด้านการเงินที่ดีและดังที่สุดคนนึงของโลก เขียนเข้าใจง่าย ใช้ภาษาอ่านสนุก ไม่น่าเบื่อ ผลงานแต่ละเล่มติดระดับเบสต์เซลเลอร์แทบทั้งนั้น เอาที่ดัง ๆ ไล่มาตั้งแต่เล่มแรกที่เป็นผลงานสร้างชื่อ คือ Liar’s Poker ที่เล่าถึงชีวิตการทำงานที่ Salomon Brothers (ซึ่งในวันนั้นเป็นเจ้าพ่อตลาดบอนด์ของโลก) เป็นเล่มแรก ๆ ที่คนวอลล์ สตรีตออกมาเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวในแวดวงวอลล์ สตรีต

เล่มนี้ขายดิบขายดีและดังถึงขนาดที่ว่า ในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ พูดกันว่า ก่อนเข้าทำงานในวอลล์ สตรีตต้องอ่านหนังสือสองเล่มและดูหนังเรื่องนึงก่อนเพื่อจะได้เข้าใจวัฒนธรรมของวงการนี้ หนังสือสองเล่มที่ว่าก็คือ Liar’ Poker กับ The Bonfire of the Vanities (ของ Tom Wolfe) ส่วนหนังก็แน่นอน Wall Street ของเฮียโอลิเวอร์ สโตน นะฮะ

ผลงานของพี่ลิวอิสยังมี Money Ball เล่มนี้ขายดีระเบิดระเบ้อและมีการสร้างเป็นหนังมีพี่แบรด พิตต์ แสดงนำ

แล้วก็มี The Blind Side ที่เป็นเรื่องราวในแวดวงอเมริกันฟุตบอล ที่เอามาสร้างหนังเหมือนกันแล้วก็ส่งให้ป้าแซนดร้า บูลล็อกได้ออสการ์ไป

ล่าสุดที่เพิ่งเข้าโรงบ้านเราไปไม่นานก็ The Big Short ที่เป็นเรื่องราวของแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิสเมื่อหลายปีก่อน หนังสือเล่มนี้ต้องบอกว่า อธิบายที่มาและสาเหตุของวิกฤติครั้งนั้นให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดจากที่อ่านมาหลายเล่ม

(จริง ๆ ยังมีเล่มอื่นอีก แต่แค่นี้ก็คงพอเห็นฝีมือของพี่เค้านะฮะ)

กลับมาที่ Flash Boys เล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของตลาดหุ้นที่สหรัฐฯ ประเด็นก็คือ หลายปีที่ผ่านมานักลงทุนที่สหรัฐฯ เจอปัญหาว่า เวลาส่งคำสั่งซื้อไปที่ตลาดหุ้นแล้ว ปรากฎว่า หุ้นที่เห็น ๆ อยู่ว่ามีออร์เดอร์ขายอยู่เพียบมันกลับหายไปเฉย ๆ หายไปต่อหน้าต่อตาเลย ถ้ายังอยากได้ก็ต้องขยับราคาให้สูงขึ้นถึงจะซื้อได้ ในทางกลับกัน เวลาส่งคำสั่งขายไป ไอ้ยอดบิดที่เห็นอยู่บนจอมันก็หายไปซะงั้น ขายไม่ได้จ้า ถ้าอยากขายต้องลดราคาลงมาอีก เจอแบบนี้กันถ้วนหน้า นี่ว่ากันระดับนักลงทุนสถาบันด้วยนะ ไม่ใช่นักลงทุนรายย่อยแบบเรา ๆ ท่าน ๆ แล้วทุกคนก็หาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้

ในที่สุดก็มีคนกลุ่มนึงที่มานั่งสืบสาวราวเรื่องปะติดปะต่อจนรู้ได้ว่า มันมีนักลงทุนกลุ่มนึงที่สหรัฐฯ เรียกกันว่าพวก High-frequency trading firm (อันนี้จนใจ ไม่รู้จะแปลยังไงครับ ใครมีคำแปลดี ๆ ช่วยบอกมาด้วยละกัน ตอนนี้เท่าที่คิดได้ ขอเรียกว่า นักลงทุนแบบเทรดถี่ คือ จากพฤติกรรมมันเทรดกันถี่ยิบ ก็ตรงตามชื่อว่า high frequency trading นะ) นักลงทุนกลุ่มนี้สามารถนำเอาสัจธรรมที่ว่า “เวลาเป็นของมีค่า” มาทำให้เป็นรูปธรรมได้ แต่เวลาที่ว่านี่ไม่ได้นับกันเป็นนาทีหรือวินาที แต่ว่ากันที่ระดับ หนึ่งในพัน หรือหนึ่งในล้านของวินาที เร็วกว่ากระพริบตาอีก

สิ่งที่นักลงทุนพวกนี้ทำก็คือ มันคอยจับสัญญาณว่ามีใครซื้อหรือขายหุ้นตัวไหน แล้วชิงส่งคำสั่งซื้อ/ขายไปตัดหน้า เพื่อกว้านซื้อหุ้นเอาไว้ก่อนหรือชิงขายหุ้นออกก่อน โดยที่สามารถทำทั้งหมดนี้ได้ในเวลาที่ว่านั่นแหละ หนึ่งในพันหรือในล้านของวินาที วิธีแบบนี้เรียกกันว่า flash trade (ส่วนที่ว่าทำไมถึงชิงตัดหน้าชาวบ้านได้ อันนี้ต้องไปอ่านเองนะครับ สนุกมาก)

ทีเด็ดของการทำแฟลช เทรดก็คือ นักลงทุนที่ถูกเทรดตัดหน้าก็ไม่รู้ตัว ไม่รู้เรื่อง (เพราะมันเกิดขึ้นเร็วมากอย่างที่ว่า) แล้วคนทำก็ได้กำไรทุกครั้งที่เทรด โดยมีการคำนวณว่า กำไรของพวกไฮ ฟรีเควนซี่ เทรดดิ้ง เฟิร์มพวกนี้จะตกอยู่ที่ประมาณวันละ ๑๖๐ ล้านเหรียญ ต่อวันนะครับ นี่เฉพาะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ประเทศเดียว ปีนึงเทรดกันกี่วันก็คูณเพิ่มเข้าไป

ทีนี้พอสืบจนรู้แล้วว่าเรื่องราวมันเป็นไงมาไง ก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งตลาดหุ้นใหม่ขึ้นมา (สหรัฐฯ มีตลาดหุ้นหลายแห่ง ใครอยากตั้งก็ตั้งได้ถ้าผ่านข้อกำหนดที่ทางการตั้งเอาไว้) ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระบบเดิมที่เป็นอยู่ทุกคนที่เกี่ยวข้องล้วนได้ประโยชน์กันหมด ตั้งแต่ตัวไฮ ฟรีเควนซี่ เทรดดิ้ง เฟิร์ม บรรดาโบรกเกอร์ ไปจนถึงตลาดหุ้น (ซึ่งอยู่ในฐานะบริษัทที่ต้องทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น) ส่วนคนเสียประโยชน์มีแค่นักลงทุนฝ่ายเดียว

รายละเอียดมากกว่านี้อยากให้ลองอ่านดู สนุกมาก ได้ความรู้เพียบ แต่ถ้าไม่มีพื้นเรื่องตลาดหุ้นมาก่อนอาจมีงง ๆ อยู่บ้าง

เล่มนี้แนะนำเลย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสมาเกิดในบ้านเรา รู้ไว้ก่อนจะได้เป็นการเตรียมตัวสู้ศึกในวันข้างหน้าครับ

Flash Boys หนังสือ (ที่มีคน) แนะนำ

Flash Boys
มีเรื่องมาเล่าสั้นๆ ว่า เมื่อวานมีโอกาสได้พบอดีตปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ท่านเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟัง หนึ่งในนั้นเป็นหนังสือเล่มนี้ ซึ่งท่านบอกว่า “ดีมาก!! คุณไปอ่านดู ผมไม่อยากเล่า”

เพื่อความแน่ใจเราก็ถามไปว่า Flash Boys ของ Michael Lewis นะครับ ท่านตอบว่า ใช่

เล่มนี้ซื้อไว้ตั้งแต่ที่ออกวางขาย Hardcover วันแรกๆ ในเมืองไทย แต่ด้วยความที่ยังมีเล่มอื่นอยู่ในคิวอีกหลายเล่มก็เลยยังไม่ได้หยิบมาอ่านซักที พอคนระดับนี้มาแนะนำอย่างนี้ก็เลยแซงขึ้นมาเป็นคิวแรก รอให้นิยายเกี่ยวกับการตามล่านาซีที่กำลังอ่านอยู่จบเล่มก่อนก็จะเป็นคิวต่อไป แล้วจะมาเล่าให้ฟังนะครับ

หนังสือในดวงใจ ๑๐ เล่ม (ตอนที่ ๒)

My shelf

หมายเหตุ : โพสต์นี้ผมเขียนและโพสต์เอาไว้ในบลอกส่วนตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๗ แต่เอามาโพสต์ซ้ำอีกครั้งที่นี่เนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาเกี่ยวข้องกันครับ

ต่อจากโพสต์ที่แล้วที่เล่าถึงหนังสือในดวงใจ ๕ เล่มไปแล้วนะครับ โพสต์นี้มาว่ากันต่อ

๖. ฤทธิ์มีดสั้น โดย โกวเล้ง

นิยายกำลังภายในนี่ผมถือว่าเป็นหนังสือที่มี learning curve สูงมากนะครับ พยายามจะอ่านมาตั้งแต่ช่วงมอปลาย แต่ก็ไปไม่รอด เข้ามหา’ลัยลองเช่ามาอ่านอีกทีก็ยังไม่รอด สาเหตุเป็นเพราะรายละเอียดมันเยอะเหลือเกิน ต้องใช้เซลล์สมองเยอะมาก ตัวละครมีเพียบ และในบรรดานั้นแต่ละคนมีไม่ต่ำกว่า ๓ ชื่อ มีทั้งชื่อปกติสามัญ มีฉายาอีก แล้วมีชื่อแบบไม่ปกติด้วย ยกตัวอย่างเรื่องฤทธิ์มีดสั้น ตัวเอกชื่อ ลี้คิมฮวง แต่ฉายาพี่เค้าคือ เซี่ยวลี้ปวยตอ เท่านั้นยังไม่พอ คุณพี่ยังมีชื่อที่เรียกขานกันว่า ลี้ถ้ำฮวย อีกชื่อนึง นี่ยังไม่นับคำเรียกนับญาติกันอีกนะ จะเป็น ตั่วกอ อาอึ้ม อาเจ่ก อีกสารพัดอ่ะ และตัวละครแต่ละตัวก็มีวิชาฝีมือแตกต่างหลากหลายจากหลายสำนักวิชา อ่านๆ ไปก็นึกในใจ กูจะรอดมั้ย?

ฤทธิ์มีดสั้น / โกวเล้ง

สุดท้ายตัดสินใจ เอาวะ เห็นใครบอกเป็นเสียงเดียวว่า เล่มนี้แหละ แม่มสุดยอด ผมอดทนอ่านจนพ้นช่วง learning curve มาได้ ทีนี้ยาวเลยครับ จบฤทธิ์มีดสั้น ต่อด้วยเหยี่ยวเดือนเก้า ไปจอมดาบหิมะแดง ข้ามฟากไปหาพี่กิมย้ง เล่นมังกรหยก ก๊วยเจ๋ง อึ้งย้ง ต่อภาคเอี้ยก้วย เซียวเหล่งนึ่ง ยาวไปเตียบ่อกี้ ต่อไปถึง ๘ เทพอสูรมังกรฟ้า แล้วข้ามมาเล็กเซี่ยวหงส์ ฯลฯ ฟังดูเหมือนจะเยอะแต่ถ้าเทียบกับบรรดาเซียนหนังสือกำลังภายในแล้วผมอ่อนด้อยมาก

ในบรรดาหนังสือกำลังภายในทั้งหมดผมยกให้ฤทธิ์มีดสั้นนี่แหละ เหตุที่ช่วยเปิดโลกบู๊ลิ้มให้ผมได้ในที่สุด

๗. Liar’s Poker โดย Michael Lewis

ในช่วงปี ‘๙๐ มีคำพูดทำนองว่า อย่าเพิ่งเข้าทำงานใน Wall Street หากยังไม่ได้ดูหนังเรื่อง Wall Street (กำกับโดย Oliver Stone) และยังไม่ได้อ่าน Bonfire of the Vanities (ของ Tom Wolfe) และ Liar’s Poker เล่มนี้

Liar's Poker / Michael Lewis

ความหมายของคำพูดที่ว่าคือ ถ้ายังไม่ได้ดูหนัง ไม่ได้อ่านหนังสือ ๒ เล่มนี้ก็จะยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมของแวดวง Wall Street ยังไม่รู้ซึ้งถึงเล่ห์เหลี่ยมและความโลภ หากเข้าไปทำงานก็จะโดนกินทั้งเป็นซะเปล่าๆ

Michael Lewis เขียนหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์การทำงานเป็นเซลส์ขายบอนด์อยู่ที่ Salomon Brothers ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดบอนด์ในยุคนั้น โดยเล่าให้เห็นถึงความโลภและเห็นแก่ตัวของคนในวงการ ทำได้ทุกอย่างแม้แต่การขายขยะให้กับลูกค้า (ได้อย่างหน้าตาเฉย แถมพนักงานที่ขายได้ยังได้คำชมอีกต่างหาก) Liar’s Poker เป็นหนังสือเล่มแรกๆ (หรือเล่มแรก) ที่คนในวงการมาเขียนเล่าเรื่องวงการของตัวเองในทำนอง insider tells all และเป็นต้นแบบให้กับหนังสือแนวเดียวกันนี้ในยุคหลังๆ

ตัวละครในเล่มนี้บางคนเป็นหนึ่งในพวกตัวจี๊ดที่มาถล่มค่าเงินบาทของไทยในช่วงต้มยำกุ้งด้วยนะครับ

 Liar’s Poker ประสบความสำเร็จสูงมาก ส่งให้ Lewis มาเป็นนักเขียนเต็มตัวและเขียนงานดีๆ น่าอ่านตามมาอีกหลายเล่ม อย่าง The New New Thing ที่เป็นเรื่องราวของ Jim Clark หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Netscape และมีส่วนทำให้เกิดยุคดอทคอมในช่วงปี ‘๙๐ หรือ The Blind Side เรื่องของนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลที่นำมาสร้างเป็นหนังและส่งให้ Sandra Bullock ได้ออสการ์

Lewis เคยให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า เขาเจตนาเขียน Liar’s Poker เพื่อเตือนสติคนหนุ่มสาวถึงความโลภ ความไร้จริยธรรม ไร้เหตุผลของแวดวง Wall Street และหวังว่าจะช่วยให้คนหันไปทำงานด้านอื่น แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม เพราะหนังสือเล่มนี้กลับยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้คนสนใจที่จะเข้าทำงานใน Wall Street มากขึ้น เป็นอย่างนั้นไป

๘. One Up On Wall Street โดย Peter Lynch

ผมสนใจเรื่องหุ้นตอนเรียนปีสามในมหา’ลัย ปัญหาสำคัญที่เจอตอนนั้นคือ หนังสือที่เกี่ยวกับการเลือกหุ้น วิเคราะห์หุ้นมีน้อยมาก ที่พอจะมีอยู่บ้างก็เป็นพวกตำราเรียน ซึ่ง (โคตร) จะวิชาการ กับหนังสือเรื่องการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค ซึ่งก็เป็นพวกแท่งเทียน เขียนกราฟ ลากเส้น แต่ต้องใช้โปรแกรม ซึ่งเราไม่มี ยุคนั้นไม่ต้องพูดถึงอินเทอร์เน็ตนะครับ คนรู้จักน่าจะมีแค่หยิบมือ จะเข้ากูเกิ้ลหาแบบสมัยนี้ก็ทำไม่ได้ ก็ต้องคอยอ่านเอาจากนิตยสารเล่มไหนที่พอจะมีลงบทความเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง

จนกระทั่งจบออกมาทำงาน ผมไปอ่านเจอจากที่ไหนก็จำไม่ได้ว่ามีหนังสือเกี่ยวกับการเลือกหุ้นในแนวปัจจัยพื้นฐานที่ดีมากๆ อยู่เล่มนึง เขียนโดย Peter Lynch ผมได้เล่มนี้จากเอเชียบุ๊คส์ สาขาสุขุมวิท เหลืออยู่เล่มนึงพอดี จริงๆ ตอนนั้นก็ยังอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ความนะ (ตอนนี้ก็ยิ่งไม่ได้ความ) แต่อารมณ์ประมาณ กูเอาไว้ก่อนล่ะ

One Up On Wall Street / Peter Lynch

Peter Lynch เป็นซูเปอร์สตาร์ในแวดวงกองทุนรวมสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในนักการเงินที่ชาวบ้านชาวช่องรู้จักดี กองทุนที่พี่เค้าบริหารเติบโตได้กำไรต่อเนื่อง ถ้าจำไม่ผิดสถิติคือ ลงทุน ๑๐ ปีกำไร ๑๙ เท่า ขนาดนั้นเลยนะ ด้วยเครดิตขนาดนี้พอพี่ Lynch เขียนหนังสือว่าด้วยการเลือกหุ้นออกมาก็เลยขายดีถล่มทลาย แล้วที่เจ๋งก็คือ หนังสือของพี่เค้าดีจริงๆ สอนวิธีเลือกหุ้นแบบดูปัจจัยพื้นฐาน ใช้ภาษาแบบง่ายๆ ชาวบ้านก็เข้าใจงี้

ช่วงนั้นถ้ามีใครมาถามผมว่าจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเล่นหุ้นเล่มไหนดี ผมจะแนะนำเล่มนี้ตลอดนะครับ จนหลังๆ มานี้มีหนังสือของไทยหลายเล่มที่ออกมาแล้วเขียนดี เข้าใจง่ายประมาณเดียวกัน ถึงได้เปลี่ยนมาแนะนำเล่มอื่นไปแทน

 ๙. The World Is Flat โดย Thomas L. Friedman

Friedman เป็นคอลัมนิสต์ (ที่ดังมาก) ของหนังสือพิมพ์ The New York Times เขียนเล่มนี้เป็นเล่มต่อเนื่องจาก The Lexus and the Olive Tree ที่ว่าด้วยเรื่องราวและบทบาทของ Globalization ที่มีต่อประเทศต่างๆ สำหรับเล่มนี้เป็นเรื่องราวของ Globalization และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ประเทศด้อย เอ่อ… กำลังพัฒนาสามารถมาแข่งขันกับประเทศพัฒนาได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ ธุรกิจเอาต์ซอร์สของอินเดีย ที่ทำเอาคนอเมริกันตกงานกันเพียบบบบ

The World Is Flat / Thomas L. Friedman

สำหรับเล่มที่มีอยู่จะเห็นว่าหน้าปกแปลกไปไม่เหมือนเล่มอื่นๆ ที่เป็นรูปโลกแบนๆ เพราะเล่มนี้เป็น First Edition ที่ทางสำนักพิมพ์ทำพลาด ไปเอารูปมาทำปกโดยไม่ได้ขอลิขสิทธิ์จากเจ้าของ (เป็นตัวอย่างที่ดีว่า สำนักพิมพ์ระดับโลกแม่มก็พลาดโง่ๆ กันได้) พอออกวางขายได้ไม่นานก็โดนฟ้อง เลยต้องเก็บกลับมาพิมพ์ปกใหม่ เวอร์ชั่นนี้เลยมีน้อยนิดนึง รูปที่อยู่บนปกนี่ชื่อว่า I Told You So หรือแปลได้ว่า กูบอกมึงแล้ว (ว่าโลกแบน)

๑๐. Live Love Laugh โดย มนูญ ทองนพรัตน์

คอนเซ็ปต์หนังสือเล่มนี้แข็งแรงมากและถูกใจผมมาก เป็นหนังสือที่ไปสัมภาษณ์คนอาชีพต่างๆ ถึงรูปแบบการใช้ชีวิต ความชอบส่วนตัว งานที่ทำและที่สำคัญคือ บ้านที่เขาอยู่เป็นยังไง ซึ่งก็จะแตกต่างกันตามรูปแบบการใช้ชีวิต อาชีพการงานและความชอบของแต่ละคน เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คล้ายกับรายการทีวีที่ผมชอบมากรายการนึงทางช่อง ThaiPBS คือ เป็น อยู่ คือ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะผู้เขียนเล่มนี้เป็นทีมงานคนนึงของรายการเป็น อยู่ คือ ด้วย

Live Love Laugh / มนูญ ทองนพรัตน์

จริงๆ ครบ ๑๐ เล่มแล้ว แต่มันเหมือนยังไม่สุด ขออนุญาตแหกกฎ เพิ่มอีกสองสามเล่มคงไม่ว่ากันนะ

๑๑. TIME ฉบับ August 18, 1997

ผมเป็นติ่งพี่’ตีฟ จ็อบส์มาตั้งแต่ม.๒ พอมีงานมีการทำแล้วก็พอจะอ่านภาษาอังกฤษได้บ้างก็เริ่มซื้อหนังสือและแมกกาซีนเกี่ยวกับพี่จ็อบส์ Apple และ Pixar เก็บไว้ ในบรรดาคอลเล็คชั่นทั้งหมดนี่ ต้องยกให้เล่มนี้

TIME / August 18, 1997

ในปี ๑๙๙๗ จ็อบส์เพิ่งกลับมาที่ Apple และในวันนั้นจ็อบส์และ Apple ต่างจากวันที่จ็อบส์เสียชีวิตมากนะครับ Apple กำลังแย่ ใกล้จะล้มละลายเต็มที เรื่องและภาพจากปกเล่มนี้เป็น exclusive story ที่เป็น behind the scene ก่อนที่จ็อบส์จะขึ้นพูดที่งาน MacWorld และประเด็นสำคัญของงานวันนั้นก็คือ การประกาศดีลที่ไม่น่าเป็นไปได้ คือ Microsoft จะลงทุนใน Apple จำนวน ๑๕๐ ล้านเหรียญและสัญญาว่าจะผลิตซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องแมคต่อไป

ดีลนี้โคตรสำคัญสำหรับ Apple ในเวลานั้น ประมาณว่าถ้าดีลล้ม Apple ก็อาจล้มนะครับ

ทีเด็ดของเรื่องนี้ก็คือ ก่อนวันงานแค่ ๑๒ ชั่วโมงจ็อบส์ยังโทรเจรจาดีลกับบิลล์ เกตส์อยู่เลย นักข่าว Time ก็อยู่แถวนั้นด้วย รายละเอียดของดีลอาจจะไม่ได้ยิน แต่หลังจากที่ปิดดีลได้นี่สิครับ จ็อบส์บอกกับเกตส์ว่า

“Thank you for your support for this company. I think the world’s a better place for it”

ครับ ถ้าใครเป็นสาวก Apple ในเวลานั้น ได้ยินประโยคนี้คงจี๊ดดดดดดดน่าดู

๑๒. The Godfather โดย Mario Puzo

 ไม่รู้จะพูดยังไงเล่มนี้ ผมเริ่มจากดูหนังก่อน โคตรชอบ แล้วก็ซื้อเล่มฉบับแปลภาษาไทยมาอ่าน พอเริ่มอ่านภาษาอังกฤษได้ก็ซื้อเล่มภาษาอังกฤษมาอีก หยิบมาอ่านแต่ละครั้งได้มุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกครั้ง ทีแรกก็อ่านเอามันนะ ครั้งต่อไป เฮ้ย นี่มันเรื่องของครอบครัวนะ ครั้งถัดมา อ้าว มีเรื่องบิสสิเนสด้วยนะ อ่านอีกที อืม นี่มันมีการบริหารบุคคลด้วยนะมึง สุดที่จะเอ่ยอ่ะ

The Godfather / Mario Puzo

๑๓. งานเขียนของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล

ผมเป็นศิษย์สำนักผู้จัดการนะครับ ถึงวันนี้ออกจากสำนักมาแล้วก็ยังสำนึกตัวอยู่เสมอและถือว่าโชคดีมากที่มีโอกาสได้อ่านงานเขียนของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ท่านเจ้าสำนักมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นทำงาน

คุณสนธิมีความสามารถพิเศษในการอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่ายๆ บวกกับภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้การเล่าเรื่องของคุณสนธิดึงดูด น่าติดตามและมีพลังอย่างมาก ใครที่เคยดูรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ทางช่อง ๙ โมเดิร์นไนน์เมื่อหลายปีก่อนคงจะพอจำกันได้

ถ้าจะเอาให้ใกล้กว่านั้นก็ลองนึกถึงภาพคุณสนธิบนเวทีพันธมิตรนะครับ

โลกานุวัตร / สนธิ ลิ้มทองกุล

เวลาเขียนหนังสือแล้วเขียนไม่ออก อาจจะตื้อด้วยการเล่าเรื่อง หรือ สำนวนภาษา ผมมักจะหยิบงานเขียนของคุณสนธิมาเปิดดู ซึ่งข้อเสียของการอ่านงานของคุณสนธิที่เจอทุกครั้งก็คือ อ่านแล้วมันเพลิน ลืมเวลา บ่อยครั้งที่ต้องตัดใจวางเพราะไม่งั้นจะเขียนงานตัวเองไม่ทันครับ

 ๑๔. เชอร์ลอคโฮล์มส์ โดย Sir Arthur Conan Doyle

พี่โฮล์มส์นี่น่าจะเป็นนักสืบในดวงใจของเด็กผู้ชาย (และผู้ใหญ่) จำนวนไม่น้อยนะครับ และผมเชื่อว่า ถ้าไปถามเด็กผู้ชายว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร? เด็กส่วนหนึ่งจะอยากเป็นนักสืบ โดยมีที่มาจากความเท่ของพี่โฮล์มส์นี่แหละ (แต่เด็กยุคนี้ไม่รู้แล้วนะ อาจจะอยากโตขึ้นมาเป็นณเดชน์ หรือเจมส์ จิ กันหมดแล้ว)

เชอร์ลอคโฮล์มส์ / Sir Arthur Conan Doyle

ชุดนี้อ.สายสุวรรณเป็นผู้แปล ผมซื้อเอง อ่านมาตั้งแต่เด็ก เพิ่งมาเปิดดูวันนี้ว่าพิมพ์มาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๑๖ คลาสสิกมากกกกก

ครบแล้วครับ ยาวมาก ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ ใครคิดเห็นยังไง อยากแชร์หนังสือเล่มไหน เชิญได้ในคอมเม้นต์นะครับ