When you are not practicing, remember, someone somewhere is practicing, and when you meet him he will win.
Ed Macauley, a Basketball Hall of Famer
When you are not practicing, remember, someone somewhere is practicing, and when you meet him he will win.
Ed Macauley, a Basketball Hall of Famer
หมายเหตุก่อนอ่าน : ถ้ายังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้อาจไม่ปะติดปะต่อถึงประเด็นที่เขียนถึงครับ
ในบรรดาหนังที่ดูมา Jerry Maguire เป็นหนึ่งในหนังที่ผมชอบมากที่สุด ชอบโดยที่ไม่ได้มีสเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ตื่นตาตื่นใจ ไม่ได้บู๊ล้างผลาญประเภทถล่มภูเขาเผากระท่อม แต่ชอบที่เนื้อเรื่องล้วนๆ และคิดเอาเองว่าคนที่จะดูหนังเรื่องนี้แล้วชอบเลยทันทีน่าจะต้องมีอายุสักยี่สิบปลายๆ ถึงสามสิบกว่าๆ ขึ้นไปและผ่านชีวิตการทำงานมาแล้วระยะหนึ่ง ถึงจะเข้าใจหรือมีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อเรื่องของหนังได้
ตัวผมเอง ช่วงแรกๆ ก็ชอบฉากโน้นฉากนี้ จะเพราะพระเอกเท่ หรือเพราะมันดราม่าอะไรก็ว่าไป แต่พอย้อนกลับไปดูหนังเรื่องนี้ในช่วงหลังๆ ผมกลับชอบฉากที่ Jerry คุยเปิดใจกับ Rod Tidwell ในห้องแต่งตัว (ขอเรียกว่าฉาก Help Me Help You ก็แล้วกัน) มากกว่า
สิ่งที่ Jerry คุยกับ Rod ในฉากนี้เป็นเรื่องจริงที่คนทำงานส่วนใหญ่ต้องเจอสักครั้งในชีวิต นั่นก็คือหลังจากทำงานไปได้สักพักเราจะเริ่มมองเห็นแต่ปัญหา เราจะรู้สึกว่างานที่ทำอยู่มันมีแต่เรื่องวุ่นวาย ลูกน้องก็สร้างแต่เรื่อง นายก็จะเอาโน่นเอานี่ ลูกค้าอีกล่ะ เงินเดือนก็ได้น้อย โบนัสก็น้อย กฎระเบียบก็ยุ่บยั่บหยุมหยิม อะไรกันวะ ฯลฯ
แล้วความรู้สึกดีใจอยากทำงานเมื่อตอนที่บริษัทตอบรับเราเข้ามาทำงานมันหายไปไหน เพราะงานก็งานเดิม บริษัทก็บริษัทเดิม หัวหน้าก็คนเดิมนั่นแหละ
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือใจของเราต่างหาก
ถ้าเรารักษาความรู้สึกของการทำงานวันแรกเอาไว้ได้ ทำงานทุกวันให้เหมือนกับเป็นการทำงานวันแรก เราจะสนุกและมีความสุขกับการทำงานได้ทุกวัน ไม่เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาคิดให้วุ่นวาย เหมือนกับที่ Jerry ให้ Rod ย้อนนึกถึงความรู้สึกในวันที่เริ่มเล่นอเมริกันฟุตบอลนั่นแหละครับ
เมื่อคืนผมกลับบ้านดึกกว่าปกติ
เปล่าครับ ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนแล้วก็ไม่ได้ติดงานอยู่ที่ออฟฟิศ ผมแวะไปงาน Digital Matters ครั้งที่ ๔ มา ธีมของงานครั้งนี้ก็คือ Content Marketing ทำอย่างไรให้ work
สำหรับรายละเอียดว่างาน Digital Matters เป็นงานเกี่ยวกับอะไร ใครเป็นคนจัด สาระของงานเมื่อคืนนี้มีอะไรบ้าง ขอเชิญติดตามได้ที่ลิ้งค์นี้ http://thumbsup.in.th/2013/10/digital-matters-4-slides-dmatters/ ซึ่งมีรายละเอียดครบถ้วนดีมากอยู่แล้ว
สิ่งที่ผมอยากเล่าไม่ได้เป็นเรื่องของเนื้อหาและสาระภายในงาน แต่เป็นเรื่องของบรรยากาศของงาน
งานเมื่อคืนเป็นการรวมตัวกันของคน ๓๐๐ กว่าคน ตั้งแต่วัย ๒๐ กว่าๆ จนถึง ๔๐ ปลายๆ ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน นั่นคือ สื่อดิจิตอล แม้ว่าแต่ละคนจะอยู่ในสถานะและบทบาทที่แตกต่างกันไป มีตั้งแต่เจ้าของเว็บไซต์ สื่อมวลชน นักการตลาด ดิจิตอล เอเจนซี่ ไปจนถึงผู้บริหารแบรนด์ต่างๆ ที่เริ่มมองเห็นความสำคัญของการใช้สื่อดิจิตอลเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย มีอยู่จำนวนหนึ่งที่เคยมาร่วมงานนี้แล้วในครั้งก่อนๆ แต่มีอีกไม่น้อยที่มาเป็นครั้งแรก (ผมเป็นหนึ่งในนั้น)
สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้เลยจากบรรยากาศที่อบอวลอยู่ภายในงานก็คือ แทบทุกคนในที่นั้นทำบทบาทของตัวเองด้วยความสนุก ทำเพราะอยากจะทำ ไม่ได้ทำเพราะคิดแค่ว่ามันเป็นหน้าที่
แปลกเหมือนกันที่เราสามารถสัมผัสได้ถึงพลังและความมุ่งมั่นที่คนอื่นส่งออกมาได้ โดยที่ไม่ต้องเปิดปากคุยกันด้วยซ้ำ
ตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่าที่อยู่ในงาน พลังที่ว่านี้ค่อยๆ จุด ‘ไฟ’ บางอย่างในตัวขึ้นมา และพาผมนึกย้อนไปถึงบางสิ่งบางอย่างที่เคยริเริ่มเอาไว้แต่ก็ไม่ได้สานต่อมานานแล้วด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา
ผมจะลองลบข้ออ้างออกทีละข้อ แล้วเอากลับมาทำด้วยความสนุก ทำเพราะอยากทำเหมือนเมื่อครั้งที่เริ่มต้นดูอีกซักที ผลจะออกมายังไงก็ช่างมัน
นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ได้โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน จากการไปงาน Digital Matters เมื่อคืนครับ
ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือคนทำงาน ผมเชื่อว่าในบางห้วงเวลาแต่ละคนล้วนต้องการ “แรงบันดาลใจ”
แรงบันดาลใจที่จะช่วยดึงตัวเองขึ้นมาจากเตียงในตอนเช้าเพื่อมาทำงาน แรงบันดาลใจที่จะออกกำลังกาย แรงบันดาลใจที่จะลดน้ำหนัก ฯลฯ
แน่นอนว่า่แต่ละคนจะมีแหล่งแรงบันดาลใจแตกต่างกันไป อาจเป็นได้ทั้งสถานที่ กิจกรรม หรือตัวบุคคล หลายคนใช้โรงภาพยนตร์เป็นที่สร้างแรงบันดาลใจ บางคนไปทะเล ภูเขา คนจำนวนไม่น้อยใช้การช็อปปิ้งเป็นการเติมพลัง
สำหรับผม แรงบันดาลใจอยู่ที่ร้านหนังสือ
เมื่อหมดพลังจากการทำงาน ขาดแรงใจ หรือรู้สึกอับทึบทางปัญญา ผมใช้ร้านหนังสือเป็นที่บำบัด การขลุกอยู่ในร้านหนังสือเป็นชั่วโมงๆ อาจฟังดูแปลกและไม่ใช่พฤติกรรมที่คุ้นเคยของใครหลายคน แต่เวลาที่หยิบจับ สัมผัสเนื้อกระดาษ พลิกอ่านเนื้อหา เลือกดูอาร์ตเวิร์คอยู่นั้น ผมรู้สึกเหมือนมีพลังงานชาร์จเข้ามาในตัว เป็นเหมือนคนไข้ที่ผ่านการเยียวยา บางครั้งแม้ยังไม่หายขาดแต่อาการก็ดีขึ้นมาก พร้อมที่จะออกไปสู้ชีวิตกันต่อ
ในบรรดาร้านหนังสือ (ในประเทศ) ที่มีโอกาสได้เข้าไปใช้บริการ ขอบอกว่าอันดับหนึ่งในดวงใจในตอนนี้ผมยกให้ Kinokuniya สาขาสยามพารากอน
ด้วยปริมาณหนังสือที่มี บวกกับประเภทหนังสือแต่ละปกที่เลือกมาวาง ไปจนถึงบรรยากาศของร้าน รวมๆ กันแล้วโดนมาก
พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่สนใจร้านหนังสือขนาดเล็ก ร้านหนังสืออิสระ และร้านหนังสือมือสอง ซึ่งแต่ละร้านก็มีข้อดีและจุดเด่นของตัวเอง เอาไว้มีโอกาสเรามาแลกเปลี่ยน “ร้านหนังสือในดวงใจ” กัน
สำหรับเครือข่ายร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสองเครือนั้น ในฐานะคนอ่านต้องบอกว่ายังไม่ใช่และยังไม่โดนครับ
เมื่อหลายปีก่อนจังหวะชีวิตการทำงานของผมเปิดโอกาสให้ได้ไปเยือนกรุงนิวยอร์คเป็นเวลาสั้นๆ แน่นอนว่าเด็กต่างจังหวัดในครอบครัวข้าราชการอย่างผมย่อมตื่นเต้นเป็นธรรมดา นิวยอร์คเป็นนครแห่งเงินตรา แสงสีและมีเดีย เป็นเมืองหลวงแห่งโลกการเงิน Wall Street อยู่ที่นี่ FED ก็อยู่ที่นี่ สื่อระดับโลกมากมายอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น TIME BusinessWeek Fortune Vanity Fair ที่เคยพลิกอ่านล้วนอยู่ที่นี่ ยังมีหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในโลกอย่าง The New York Times ก็อยู่ที่นี่
ก่อนออกเดินทางผมใช้เวลาพักใหญ่ไปกับการเตรียมตัว นั่นคือ การลิสต์รายชื่องานศิลปะ ศิลปะวัตถุ รวมไปถึงสถานที่ต่างๆ ที่อยากดูอยากไปเห็น
หนึ่งในนั้นคือ Wall Street
ผมไป Wall Street ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งผู้คนไม่พลุกพล่านวุ่นวาย สามารถเดินดูเดินถ่ายรูปได้ไม่เกะกะใคร หลังจากเดินวนไปวนมาจนหนำใจ (ถ้ามีโอกาสจะเก็บมาเล่าอีกที) ก็ตัดสินใจเดินไป Ground Zero ที่เคยเป็นที่ตั้งของตึกแฝด World Trade Center
Ground Zero ในวันนั้นรื้อถอนขนย้ายซากปรักหักพังออกไปแล้ว เริ่มมีการเคลียร์พื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้างโครงการใหม่ที่จะขึ้นมาแทนตึกแฝดในวันข้างหน้า บริเวณโดยรอบยังคงมีภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีศิลปินมาทำงานศิลปะเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต และมีนักท่องเที่ยวมาชมสถานที่ที่ครั้งหนึ่งได้เคยเกิดเหตุการณ์เศร้าสลดขึ้น
ก่อนหน้าเหตุการณ์ 9/11 ผมเคยได้ยินได้อ่านคำกล่าวที่ว่า Everyone remember where were they and what were they doing when Kennedy was shot. (แปลคร่าวๆ ตามประสาเด็กต่างจังหวัดได้ว่า ทุกคนล้วนจำได้ว่าตอนที่ Kennedy โดนยิง ตัวเองอยู่ที่ไหนและทำอะไรอยู่) ผมไม่เข้าใจเลยว่ามันหมายความว่ายังไง ถามฝรั่งที่ทำงานด้วยกันก็ไม่ได้คำตอบที่ช่วยให้กระจ่าง
จนกระทั่งเกิดเหตุ 9/11 ผมถึงเข้าใจ
วันนี้เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ๑๒ ปีเต็ม ผมยังจำได้แม่นเลยว่า ตอนที่รู้ข่าวเครื่องบินพุ่งชนตึกแฝดตอนนั้นผมอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ โทรหาใคร จำได้กระทั่งว่าฟีลของตัวเองตอนนั้นเป็นยังไง
นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่จะมีเพียงไม่กี่ครั้งในชีวิต ถึงจะไม่ได้เกิดกับเราโดยตรงแต่มันจะฝังอยู่ในใจและคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเลือนหายไป
ร่างแรกของโพสต์นี้ครับ
เดือนนี้เมื่อ ๒ ปีที่แล้วนิตยสาร Bloomberg Businessweek ไทยแลนด์ ขึ้นปกด้วยรูปคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมด้วยคำโปรย “เศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์'”
[นิตยสาร Bloomberg Businessweek ไทยแลนด์ ฉบับสิงหาคม ๒๕๕๔]
ปกนี้มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยบางประการนะครับ
ต้องบอกว่า ปกนี้เป็นปกแรกและปกเดียวของ Bloomberg Businessweek ไทยแลนด์ ที่ใช้คนไทยขึ้นปกและการตัดสินใจใช้รูปคุณยิ่งลักษณ์ขึ้นปกพร้อมด้วยคำโปรยดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงประการหนึ่ง (ของหนังสือและตัวผมเอง) เพราะทีมงานต้องปิดเล่มตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนกรกฎาคม และในวันที่ปิดเล่มเพื่อส่งไฟล์เข้าโรงพิมพ์นั้นยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างแน่ชัดว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งใครมาเป็นนายกฯ หากเวลาต่อมานายกฯ ไม่ใช่คุณยิ่งลักษณ์ ตัวผมในฐานะบรรณาธิการผู้ตัดสินใจย่อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเก็งหวยผิดในครั้งนี้ แต่ในเวลานั้นผมค่อนข้างมั่นใจว่าคุณทักษิณคงไม่ไว้ใจใครเท่าน้องสาวตัวเองแน่ๆ ก็เลยฟันธงมาทางนี้แบบไม่มีกั๊ก
ถ้าจะพูดแบบอ้างอิงคำวิชาการให้ดูน่าเชื่อถือก็ต้องบอกว่า การตัดสินใจครั้งนี้แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็เป็น calculated risk ที่ได้มีการประเมินไว้ล่วงหน้าแล้ว และการเสี่ยงครั้งนี้ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะ Bloomberg Businessweek ไทยแลนด์ เป็นนิตยสารรายเดือนเล่มแรกที่ขึ้นปกด้วยรูป (และเรื่อง) คุณยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกฯ สำหรับคนอื่นอาจไม่อินและไม่ฟินกับเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่สำหรับทีมงานและตัวผมในฐานะบรรณาธิการ นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่เราภูมิใจนะครับ
สำหรับเรื่องจากปก นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนล่วงหน้า เพราะตอนที่เก็บข้อมูลและไปคุยกับแหล่งข่าว เรายังไม่รู้เลยว่าพรรคไหนจะชนะการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานเป็นสองเท่า คือ เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์เผื่อทั้งกรณีที่เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลหรือประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล จนกระทั่งเลือกตั้งเสร็จ ผลคะแนนออกมาชัด หลังจากนั้นก็มุ่งไปทางเดียว ก็ได้มาเป็นบทความชิ้นนี้
[หน้าเปิดเรื่องจากปก Bloomberg Businessweek ไทยแลนด์ ฉบับสิงหาคม ๒๕๕๔]
หมายเหตุ : มีเรื่องบังเอิญเล็กน้อยที่ฉบับนี้เป็นฉบับก้าวสู่ปีที่ ๕ ของ Bloomberg Businessweek ไทยแลนด์ พอดี ที่หน้าปกก็เลยมีข้อความแจ้งผู้อ่านเอาไว้ด้วย ซึ่งการตัดสินใจทำเรื่องนี้และปกนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นการฉลองการขึ้นปีที่ ๕ แต่อย่างใดครับ
[แอพที่ว่านี่หมายถึงแอพในสมาร์ทโฟนนะครับ ไม่รวมถึงแอพในเครื่องเดสค์ท็อป]
คนใช้สมาร์ทโฟนจะมีการใช้งานแตกต่างกันไปตามจริตของแต่ละคน ซึ่งก็จะมีแอพที่ใช้ประจำอยู่จำนวนหนึ่งแล้วแต่ความชอบ ความถนัด แม้บางคนจะจริตตรงกันก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้แอพเหมือนกันก็ได้ ถึงอย่างนั้นก็เถอะการได้รู้ว่าคนอื่นใช้แอพอะไรเพื่อทำอะไรกันบ้างอาจจะช่วยให้เราใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์ของเราได้มากขึ้น
เอาของผมเอง โดยนิสัยแล้วผมเป็นพวก info junkie เพราะฉะนั้นแอพที่ใช้ส่วนใหญ่ก็จะเพื่อสนองความต้องการในเรื่องพวกนี้เป็นหลัก
(อันนี้ไม่ได้เรียงตามการใช้งานนะครับ เอาแบบที่นึกได้)
ที่ว่ามานี่เป็นแอพหลักๆ ที่ผมใช้ทุกวัน (ไม่นับแอพของ iOS เองด้วย) ยังมีบางแอพที่สองสามวันใช้ทีและหลายแอพที่นานๆ ใช้ที และมีบางแอพที่แทบไม่เคยใช้เลย แต่ยังไม่ได้ลบออกจากเครื่อง เพราะเห็นว่าคอนเซ็ปต์บางอย่างมันน่าสนใจ เก็บไว้เป็นไอเดียหรือเพื่อเรียนรู้ได้
อ้อ เผื่อใครสนใจจะลองดาวน์โหลดมาใช้งานบ้าง ทุกแอพที่ว่ามานี่ ฟรีทั้งหมดครับ 🙂
หมายเหตุก่อนอ่าน : บทความชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับ July 2004 การนำมาโพสต์ครั้งนี้ไม่ได้มีการดัดแปลง เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงข้อความหรือเนื้อหาใดๆ ยกเว้นเปลี่ยนตัวเลขให้เป็นเลขไทย
ช่วงปลายปี ๒๕๔๕ นิตยสาร Forbes ของสหรัฐอเมริกาได้ทำการคัดเลือกภาพยนตร์ด้านธุรกิจที่ดีเด่นสุดยอด ๑๐ อันดับแรก โดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ นักวิจารณ์ คนเขียนบทและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ซึ่งถึงแม้ภาพยนตร์ด้านธุรกิจจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาพยนตร์แอคชั่นและรักโรแมนติค แต่ภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่งอย่าง Citizen Kane ก็เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวในแวดวงธุรกิจนั้นก็มีสีสันและ Story ที่ดีพอจะสร้างเป็นภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมได้เช่นเดียวกัน
ผลจากการคัดเลือกของคณะกรรมการในครั้งนั้นมีภาพยนตร์บางเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ทราบผล นั่นคือ The Godfather ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ติดอยู่ในอันดับ ๔ และ The Godfather Part II ที่ครองอันดับ ๒ เพราะเมื่อดูจากเนื้อเรื่องและแนวทางของภาพยนตร์ทั้ง ๒ เรื่องนี้แล้ว ไม่น่าจะมาติดอันดับภาพยนตร์ด้านธุรกิจได้ แต่คณะกรรมการก็ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าทั้ง ๒ เรื่องนี้เหมาะสมแล้วที่จะได้รับการจัดอันดับตามที่ประกาศออกมา
The Godfather ฉบับภาพยนตร์สร้างขึ้นจากบทประพันธ์ในชื่อเดียวกันของ Mario Puzo ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๑๒ เมื่อประสบความสำเร็จยอดขายถล่มทลายก็ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายใน ๓ ปีถัดมา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในด้านรายได้และคำชมจากนักวิจารณ์ทั่วไป ความยอดเยี่ยมในเชิงภาพยนตร์ของ The Godfather นั้นขอละเอาไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอพูดถึงแง่มุมในด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่เราพบเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้แทน
The Godfather แสดงให้เราได้เห็นว่า ในสังคมธุรกิจนั้น “เครือข่าย” หรือ Network เป็นสิ่งสำคัญมาก บทบาทของดอนวีโต คอร์เลโอเน ผู้เป็นประมุขของตระกูลคอร์เลโอเนนั้นเป็นทั้งศูนย์กลางของเครือข่ายแห่งหนึ่ง และยังเป็นตัวเชื่อมไปยังศูนย์กลาง (ประมุข) เครือข่ายแห่งอื่นอีกด้วย เราได้เห็นฉากการเจรจาระหว่างดอนคอร์เลโอเนกับประมุขตระกูลอื่นที่ประสงค์จะขอใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของคอร์เลโอเน แลกกับผลตอบแทนในรูปของส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจค้ายาเสพติด เท่ากับว่าเครือข่ายที่มีอยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็น “ทุน” ประเภทหนึ่ง ที่สามารถก่อให้เกิดธุรกิจขึ้นได้ ถ้าจะเรียกกันตามภาษาในยุคบูรณาการก็ต้องว่า “แปลงเครือข่ายเป็นทุน” นั่นเอง
สิ่งนี้ไม่ต่างจากแวดวงสังคมธุรกิจไทยมากนัก เราได้เห็นธุรกิจที่เกิดขึ้นและดำเนินไปภายใต้ปัจจัยของการเป็น “คนรู้จักกัน” จำนวนไม่น้อย ยิ่งในช่วงหลายสิบปีก่อน ที่สังคมธุรกิจไทยจะมีตระกูลใหญ่ครอบครองอยู่เพียงไม่กี่สิบตระกูลเท่านั้น เรามักได้ยินข่าวคราวการแต่งงานกันระหว่างลูกหลานของคนในตระกูลใหญ่เหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่งจุดหนึ่งก็เพื่อสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างตระกูลเพื่อช่วยเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจนั่นเอง
หรือในยุคสมัยใหม่ หลักสูตรการเรียน MBA ที่ฮิตนักหนานั้นก็มีส่วนช่วยต่อการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจได้เช่นกัน
The Godfather ยังแสดงให้ผู้ชมได้เห็นความสำคัญของ “ข้อมูล” อย่างเป็นรูปธรรม ดังในฉากที่ไมเคิล คอร์เลโอเน บุตรชายคนเล็กของดอนคอร์เลโอเนจะต้องไปเจรจาสงบศึกกับคู่อริของตระกูล ก่อนหน้าการเจรจาได้มีการสั่งการให้สืบหาสถานที่ที่จะใช้เป็นที่เจรจาโดยด่วน เพื่อจัดเตรียมอาวุธไว้ให้ไมเคิลใช้สังหารคู่เจรจาก่อนที่จะหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่ซิซิลี หากไม่สามารถหาข้อมูลสำคัญนี้มาได้หรือได้ข้อมูลที่ผิดพลาด ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นคงยากที่จะประเมินได้
ซึ่งก็นำมาสู่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำธุรกิจ คือ การเสาะแสวงหาข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สายลับ เราได้เห็นดอนคอร์เลโอเนสั่งการให้ลูกสมุนที่ไว้ใจมากที่สุดคนหนึ่งพยายามไปฝังตัวเป็นสายลับในองค์กรคู่อริ ขณะเดียวกันดอนของตระกูลคู่อริก็พยายามซื้อตัวคนใกล้ชิดของดอนคอร์เลโอเนให้แปรพักตร์ด้วยเช่นกัน เรื่องราวเหล่านี้สำหรับสังคมธุรกิจอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากเหลือเกิน รวมทั้งยังเกิดขึ้นแล้วจริงๆ หลายครั้งหลายคราในหลายองค์กรด้วยกัน
หากเรามององค์กรอาชญากรรมของตระกูลคอร์เลโอเนเป็นองค์กรธุรกิจ การตระเตรียมทายาทเพื่อรอถึงวันส่งมอบองค์กรให้ครอบครองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย เพราะเหตุที่ไม่คาดคิดหลายประการอาจเกิดขึ้นกับตัวผู้นำิองค์กรได้ทุกเมื่อ ใน The Godfather เองเราได้เห็นดอนคอร์เลโอเนพยายามสั่งสอนซันนี ผู้เป็นลูกชายคนโตให้เรียนรู้หลักการบริหารกิจการของตระกูล รวมทั้งกลเม็ดต่างๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของตระกูล
แต่เหมือนดังคำกล่าวที่ว่าเอาไว้ “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” เพราะซันนี คอร์เลโอเนต้องประสบเหตุร้ายที่คาดไม่ถึง ทำให้ไมเคิล บุตรชายคนเล็ก ผู้ซึ่งไม่เคยแสดงความต้องการที่จะมารับช่วงกิจการของตระกูลเอาเสียเลย กลับต้องมารับหน้าที่นี้ และก็เป็นไมเคิลนี่เองที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่สุดและสามารถนำพากิจการของตระกูลคอร์เลโอเนให้รุ่งเรืองและเริ่มก้าวออกจากเงามืดมาสู่ธุรกิจถูกกฎหมายมากขึ้นได้สมความใฝ่ฝันของดอนคอร์เลโอเน
นั่นแสดงให้เห็นว่า ทายาทธุรกิจที่เหมาะสมนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นบุตรคนแรกหรือผู้มีอาวุโสสูงสุดเสมอไป หากแต่ควรจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากที่สุดมากกว่า องค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยอย่างน้อยสองแห่งที่ผู้นำองค์กรคนปัจจุบันมิได้เป็นบุตรชายคนโตของตระกูล คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี และบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ผู้นำเครือสหพัฒน์ ซึ่งทั้งสองก็สามารถนำพากิจการของตระกูลให้เติบโตและขยายออกไปได้มากจนเป็นองค์กรชั้นนำของไทยในปัจจุบัน
หมายเหตุ : เมื่อกล่าวถึงแง่มุมด้านธุรกิจจาก The Godfather แล้ว ขอกล่าวถึงตัว The Godfather เองสักเล็กน้อย หนังสือ The Godfather ที่เขียนโดย Mario Puzo ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ มียอดขายรวมจนถึงวันนี้ประมาณ ๑๖๐ ล้านเหรียญ ส่วนภาพยนตร์ The Godfather ที่กำกับโดย Francis Ford Coppola ทั้ง ๓ ภาคนั้น ทำรายได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาได้ถึง ๔๕๐ ล้านเหรียญ ๑๔๕ ล้านเหรียญและ ๙๐ ล้านเหรียญตามลำดับ และได้มีการประเมินกันว่าเมื่อรวมรายได้ที่เกิดจาก The Godfather ทั้งหมด ทั้งจากยอดขายหนังสือ รายได้จากภาพยนตร์ รวมทั้วยอดขายของวิดีโอและดีวีดีและอื่นๆ แล้ว คาดว่าจะมียอดเกินกว่า ๑ พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
[นิตยสาร Corporate Thailand ฉบับ July 2004 ที่ตีพิมพ์ข้อเขียนชิ้นนี้ครั้งแรก]