ข้อดีของวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนที่ ๒

ครั้งที่แล้วผมเล่าถึงข้อดีของวิกฤติต้ายำกุ้งข้อแรกไปแล้ว เป็นเรื่องของการงาน ครั้งนี้ข้อสองเป็นเรื่องของการเงิน ซึ่งก็ต่อเนื่องมาจากข้อแรก

นั่นคือ วิกฤติต้มยำกุ้งทำให้ได้ซาบซึ้งกับวลีที่ว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ และนอกจากไม่มีหนี้แล้วยังต้อง มีเงินเก็บ ด้วยนะครับ

บทเรียนข้อนี้แลกมาด้วยหยาดเหงื่อชนิดที่ผ่านมาแล้วสิบกว่าปียังจำได้ไม่ลืม

อย่างที่ได้เล่าไปว่า ช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งบริษัทที่ผมทำงานอยู่ลดเงินเดือนลง ๓๐% แถมบางเดือนก็จ่ายล่าช้าไม่ตรงตามกำหนด แต่ตอนนั้นผมผ่อนทั้งบ้านทั้งรถตามประสาคนกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งธนาคารกับไฟแนนซ์ที่เป็นเจ้าหนี้ไม่รับรู้ด้วย เขารู้แค่ว่าถึงกำหนดต้องจ่ายมาตามจำนวน ดอกเบี้ยเงินกู้บ้านขึ้นไปที่ ๑๖% ถ้าจ่ายช้าดอกก็เพิ่ม ชีวิตตอนนั้นต้องปากกัดตีนถีบเอาเรื่องอยู่นะครับ

ทำงานประจำจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์อาทิตย์ขนของขึ้นรถไปเปิดท้ายขายของ ตระเวนไปแต่ละอาทิตย์ ตั้งแต่บิ๊กซี ราชดำริ หมู่บ้านเมืองเอก ฟิวเจอร์ปาร์ค บางแค ถนอมมิตร พาร์ค ที่วัชรพล ฯลฯ แรกๆ ก็เอาข้าวของในบ้านไปขาย พวกเทปคาสเซ็ทต์ที่สะสมเอาไว้ สมุดบันทึกที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ ข้าวของที่ระลึก สิ่งละอันพันละน้อย จนเริ่มเหลือน้อยก็ไปหาของมาขาย ตอนนั้นคนกำลังเริ่มฮิตต่อจิ๊กซอว์ ก็ไปรับจากสำเพ็งมาขาย อีกสักพักคนเริ่มขายกันเยอะ ก็ไปเอาถุงน่องจากโบ๊เบ๊มาขายเพิ่มเข้าไป มีน้องที่รู้จักทำเสื้อยืดขายอยู่โบ๊เบ๊ก็ไปรับมาขาย น้องคนนี้ก็ดีมากให้เอาเสื้อมาก่อนขายได้ค่อยเอาเงินไปให้ (ขอบคุณมากนะดุ๊ย) พอขายของเสร็จกลับบ้านค่ำมืดก็มานั่งทำงานบ้านต่อ เช้าวันจันทร์ก็ไปทำงาน

ชีวิตวนเวียนอย่างนี้อยู่พักใหญ่

จนวันนึงคิดว่า ไม่ไหวแล้ว ก็พอดีได้งานใหม่ เงินเดือนมากขึ้น จ่ายเงินเดือนตรงเวลา ก็เริ่มหายใจหายคอได้บ้าง จากนั้นก็เร่งโปะหนี้ ไล่ไปทีละอย่าง ทยอยโปะบัตรเครดิตจนหมด ตามด้วยโปะบ้าน ใช้เวลาหลายปีจนในที่สุดก็เป็นไท

หนี้ก็เหมือนไขมัน ถ้ามีมากก็ทำให้เราอุ้ยอ้าย จะขยับเนื้อขยับตัวก็ไม่สะดวก

วันที่หมดหนี้เป็นวันที่มีความสุขมากที่สุดวันนึงนะครับ

หลังจากนั้นผมเก็บเงินเป็นเรื่องเป็นราว พยายามเป็นหนี้ให้น้อยที่สุด เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า เมื่อไหร่ที่วิกฤติจะกลับมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงว่าระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้มันโยงใยผูกพันกันไปหมด บางทีวิกฤติรอบหน้าอาจจะไม่ได้เกิดจากตัวเราเองแต่เราโดนลูกหลงของคนอื่นก็อาจเป็นได้

ถ้าวันนั้นมาถึง คนที่ตัวเบาที่สุดจะเหนื่อยน้อยที่สุด

Cash is King ครับ

ข้อดีของวิกฤติต้มยำกุ้ง

พรุ่งนี้ก็ ๒ กรกฎาคมแล้วนะครับ ถือเป็นวันที่มีความสำคัญระดับจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์โลกได้เหมือนกันว่า วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ เป็นวันที่รัฐบาลไทยประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว (ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินบาทไหลจากระดับ ๒๕ บาทต่อดอลลาร์ไปทำสถิติเอาไว้ที่ ๕๕ บาทต่อดอลลาร์) และถือเป็นจุดเริ่มอย่างเป็นทางการของวิกฤติการเงินครั้งสำคัญของไทยที่ชาวต่างชาติพร้อมใจขนานนามให้ว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง

ต่อมาก็ลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ แถบนี้จนกลายเป็นวิกฤติการเงินเอเชีย หลังจากนั้นก็ขยายวงออกไปภูมิภาคอื่น จนปะทุเป็นวิกฤติประเทศเศรษฐกิจใหม่ในที่สุดและทุกครั้งที่มีใครหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก็จะต้องพาดพิงถึงประเทศไทยในฐานะตัวต้นเหตุให้เราได้ภาคภูมิใจกันทุกครั้งไป (มั้ย?)

ผลกระทบของวิกฤติต้มยำกุ้งนี่ถ้าเล่าให้คนที่โตไม่ทันได้ฟังอาจจะนึกว่าโม้ เพราะมันเจ๊งกันแทบจะทั้งประเทศ บริษัทไฟแนนซ์หายไปหลายสิบแห่ง โดยที่หลายบริษัทเป็นบริษัทระดับท็อปของประเทศ ธนาคารที่เชื่อกันว่ามั่นคง ไม่ล้มกันง่ายๆ ก็โดนยุบไปรวมกับธนาคารอื่น และมีอีกหลายแห่งที่ไม่ถูกยุบแต่เจ้าสัวนายแบงค์ต้องยอมให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นมากขึ้นเพื่อเอาตัวให้รอด

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังๆ ตอนนั้นแทบจะเจ๊งเรียบ โครงการก่อสร้างที่แย่งกันขึ้น แข่งกันสร้าง กลายเป็นโครงการร้าง สร้างต่อไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน แต่ถึงบริษัทมีเงินสร้างก็ไม่มีคนซื้อ เพราะตกงานกันเพียบ มันแย่ถึงขนาดที่คนระดับ ชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสแบงค์กรุงเทพ ออกมาบอกนักข่าวว่า เจ้าสัววันนี้ไม่มีแล้ว มีแต่เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์

ขนาดนายแบงค์ยังเป็นอย่างนี้ แล้วคนธรรมดาจะไปเหลืออะไร

แต่วิกฤติต้มยำกุ้งก็ยังมีข้อดีอยู่นะครับ เอาข้อที่ฝังใจผมและส่งผลต่อการทำงานของผมมากที่สุดก็คือ วิกฤตินี้ทำให้รู้ได้ว่า ความมั่นคงในอาชีพการงานมันไม่มีอีกต่อไปแล้ว

ทำไมผมถึงคิดอย่างนี้

ก่อนหน้าวิกฤติต้มยำกุ้งเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องมาร่วมสิบปี คนที่เรียนจบออกมาทำงานไม่กี่ปีก็มีบัตรเครดิต ซื้อบ้าน ซื้อรถ กันได้ง่ายๆ แบงค์เองก็ปล่อยกู้สบายๆ เพราะรู้ว่าลูกหนี้มีกำลังผ่อนได้อยู่แล้ว

พอเกิดวิกฤติปั๊บ เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงกลางกบาล เอากรณีผมแล้วกัน บริษัทเอาคนออกไปเกือบครึ่งนึง งานก็เลยเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า เงินเดือนถูกลดไป ๓๐% แถมบางเดือนออกช้าอีกต่างหาก แต่มีงานทำก็ยังดีกว่าไม่มี เพราะเวลานั้นคนตกงานกันเป็นแสน ไม่มีใครมองหางานใหม่ ก็ไม่มีที่ไหนรับคนเพิ่ม มีแต่เล็งจะเลิกจ้าง แค่รักษางานเอาไว้ได้นี่ก็มหัศจรรย์แล้ว

สถานการณ์อย่างนี้จะไปหาความมั่นคงในอาชีพจากที่ไหน ถึงเวลาจะผ่านมาแล้วก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอย่างนี้อีกมั้ย

แต่ข้อดีอยู่ตรงนี้ครับ พอรับรู้ได้ว่า เราไม่สามารถมองหาความมั่นคงในอาชีพได้แล้ว มันก็เลยเกิดแรงผลักดันมาจากข้างในให้ต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุด ก่อนหน้านี้เคยทำได้อยู่อย่างเดียว ก็เริ่มหัดทำอย่างอื่นด้วย ไอ้ของที่ทำอยู่ก็หาวิธีทำให้ดีขึ้นไปอีก อะไรที่ขาดก็หามาเติม ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อที่ว่า ถ้าปุบปับเกิดอะไรขึ้นมา เราก็จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในตลาดแรงงาน (ผมมีความสุขดีกับการเป็นลูกจ้างครับ)

พอทำอย่างนี้ไปได้สักพัก กลายเป็นว่ามันช่วยเปิดโอกาสให้กับชีวิต ผมมีโอกาสได้ทำงานดีๆ งานที่ทำแล้วมีความสุขต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้

ต้องขอบคุณวิกฤติต้มยำกุ้งนะครับ

หญิง-ชายเลือกคู่ ดูอะไร?

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้สนทนากับคนที่เคยทำงานในบริษัทจัดหาคู่แห่งหนึ่ง เท่าที่เคยได้ยินมาบริษัทนี้มีชื่อเสียงอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศ หลังจากที่คุยกิจธุระกันเรียบร้อย ผมก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ถามถึงข้อสงสัยบางประการ รวมทั้งรายละเอียดของการหาคู่ให้ชาวบ้านด้วย

ข้อแรกเลย ผมถามว่า จากประสบการณ์ที่เขาทำงานมา ผู้หญิงกับผู้ชายมีหลักเกณฑ์ในการเลือกคู่ยังไง

ได้คำตอบว่า สองเพศนี้เลือกไม่เหมือนกัน (เออ ลืมถามเพศที่สามนะ) เอาผู้หญิงก่อน เขาบอกว่าผู้หญิงส่วนใหญ่จะดูจากฐานะและหน้าที่การงานของฝ่ายชายเป็นอันดับแรก การจะผ่านเกณฑ์ข้อนี้ไปได้ต้องมีฐานะและการงานไม่ด้อยกว่าฝ่ายหญิง อย่างน้อยก็ต้องสูสีกัน ถ้าต่ำกว่าก็ตกรอบแรกไปเลยนะครับ ผู้หญิงที่ใช้เกณฑ์ข้อนี้รวมไปถึงคนที่รวยอยู่แล้วหรือมีหน้าที่การงานดีอยู่แล้วด้วย พวกที่คิดว่าฉันรวยอยู่แล้ว ผู้ชายด้อยกว่าก็ไม่เป็นไรนี่เขาบอกว่าไม่ค่อยเจอครับ

มาฝั่งผู้ชายบ้าง สั้นๆ ง่ายๆ เกือบร้อยทั้งร้อยดูหน้าตาและรูปร่างครับ ฐานะกับการงานนี่ตามมาห่างๆ เลย

ข้อต่อมา ใครบ้างที่มาใช้บริการจัดหาคู่ เขาบอกว่า มีทั้งหญิงและชายแต่สัดส่วนผู้หญิงจะมากกว่า และคนที่มาใช้บริการก็หลากหลายมาก มีตั้งแต่เด็กวัยรุ่นที่แม่เดินจูงมือพามาเลย มีนางแบบ มีลูกหลานนักการเมือง หมอก็มี ไปจนถึงนักธุรกิจระดับสิบล้านร้อยล้านก็มี แต่ละคนก็มีเป้าหมายหรือความต้องการแตกต่างกันไป เขาเล่าว่า ผู้หญิงบางคนสเปคมาเลยว่าจะหาคู่ที่เป็นฝรั่งเท่านั้น มีบางคนส่งรูป “ณเดชน์” มาให้ บอกว่าจะเอาหน้าตาประมาณนี้ บางคนเพิ่งถูกแฟนบอกเลิกมาเมื่ออาทิตย์ก่อน มาถึงก็เร่งเลยว่าอยากได้เร็วที่สุด

สำหรับขั้นตอนการทำงานของบริษัทจัดหาคู่ที่ได้รับความต้องการของลูกค้ามาแล้ว ก็ต้องมาคัดเลือกจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ว่ามีใครเข้าข่ายที่ลูกค้าตั้งเอาไว้บ้าง แล้วต้องดูด้วยว่าน่าจะเข้ากันได้ เพื่อส่งให้ลูกค้าดูอีกที หากพอใจในเบื้องต้น ทีนี้ก็จะมีการนัดเดทกัน ตรงนี้ทางบริษัทจะประสานงานให้ จองร้านอาหารให้ หาแผนที่ เตรียมเส้นทาง อะไรให้เสร็จสรรพ แต่เขาไม่ไปด้วยนะ ลูกค้าเจอกันเอง คุยกันเอง กินข้าวเสร็จจะไปกินกาแฟ จิบไวน์ ดูหนัง ช็อปปิ้ง อะไรก็ตามสะดวก

เสร็จสรรพวันรุ่งขึ้น ทางบริษัทจะโทรไปถามผล

ก็มีทั้งที่พอใจและไม่พอใจนะครับ ถ้าเป็นกรณีที่ไม่พอใจนี่บางทีโทรมาวันนั้นเลย เหตุผลก็แตกต่างกันไป ลูกค้าผู้ชายบางคนบอกว่า สาวคู่เดทพูดสบถและคำหยาบแทบจะตลอดเวลา อย่างนี้ไม่เอา ส่วนลูกค้าผู้หญิงไปเจอคู่เดทที่เอาแต่คุยเรื่องการเมือง หรือบางคนไปเจอคนกินมูมมามจนรับไม่ได้ก็มี กรณีที่ยังไม่โอเคอย่างนี้ทางบริษัทก็จะหาคู่เดทคนใหม่ให้

มีกรณีประทับใจหลายคู่หลายคนเหมือนกัน เขาเล่าว่ามีอยู่คู่นึงที่บริษัทจับคู่ให้ไปเดทกัน พอแยกย้ายกันขับรถกลับที่พักของตัวเอง ถึงได้รู้ว่าทั้งสองคนอยู่คอนโดเดียวกัน จอดรถชั้นเดียวกัน แต่คนละฝั่ง แล้วก็ไม่เคยเจอกันมาก่อน คู่นี้หลังจากที่เดทกันแล้วสุดท้ายก็สานสัมพันธ์กันต่อ แล้วก็มีสาวบางคนที่พอมาถึงก็บอกกับพนักงานเลยว่า อยากไปออกรายการ Take Me Out Thailand ช่วยจัดให้ได้มั้ย แบบนี้ก็มีนะครับ

ฟังจากที่เขาเล่ามา ผมคิดว่าธุรกิจจัดหาคู่น่าจะโตได้อีกมาก ถึงแม้ว่าตอนนี้คนส่วนมากจะรู้สึกขัดเขินหรือไม่สะดวกใจกับการไปให้บริษัทช่วยหาคู่ให้ แต่สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่แต่ละคนต้องก้มหน้าก้มตาทำงานจนไม่มีเวลาไปเจอคนที่ถูกใจ หรือเจอแต่กลุ่มคนในแวดวงเดียวกันก็ดันรู้ไส้รู้พุงกันหมดเสียอีก บริการลักษณะนี้ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับคนไร้คู่ได้นะครับ

เอกยุทธ อัญชันบุตร เป็นใคร?

ช่วง ๓-๔ วันมานี้คงไม่มีใครได้พื้นที่ข่าวเท่ากับ เอกยุทธ อัญชันบุตร

เรื่องราวของเอกยุทธที่นำเสนอผ่านสื่อออกมาส่วนใหญ่บอกเพียงว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับแชร์ชาร์เตอร์เมื่อราว ๓๐ ปีก่อน แต่รายละเอียดของเรื่องนี้ก็ไม่มีมากนัก แต่คนหนึ่งที่รู้เรื่องราวของเอกยุทธดีน่าจะเป็น สนธิ ลิ้มทองกุล ที่ได้เขียนเรื่องราวของเอกยุทธลงในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๒๘ ในชื่อเรื่องว่า “เอกยุทธ อัญชันบุตร ดินที่ถูกปั้นให้เป็นดาว แล้วก็กลายเป็นธุลี”

ผมโตไม่ทันนิตยสารฉบับที่ว่า แต่โชคดีที่เมื่อหลายปีก่อนทางผู้จัดการได้รวบรวมงานเขียนของสนธิ ลิ้มทองกุลมารวมเล่มและหนึ่งในนั้นคือ เจ้าพ่อ ซึ่งมีข้อเขียนชิ้นนี้รวมอยู่ด้วย

mafia_cover

เรื่องราวในบทความนี้เล่าถึงประวัติและความเป็นมาของเอกยุทธก่อนที่จะมาเริ่มแชร์ชาเตอร์ และต่อเนื่องไปถึงเรื่องราวของแชร์ชาเตอร์ตั้งแต่ต้นจนถึงบทสุดท้ายที่ต้องล้มโต๊ะแชร์ เพราะเอกยุทธผู้เป็นเจ้ามือหายตัวไปเสียเฉยๆ คงเหลือไว้เพียงตำนานให้คนกล่าวถึงกัน

eakayuth

นอกจากเรื่องราวของเอกยุทธตามที่เล่ามาแล้ว งานเขียนในหนังสือเล่มนี้อ่านสนุกตามสไตล์สนธิ ลิ้มทองกุล โดยเฉพาะเรื่องราวของแชร์แม่ชม้อย ในชื่อ “ชม้อย ทิพย์โส วีรสตรีหรือซาตานกันแน่!” ที่ต้องบอกว่าไม่ควรพลาด

ลองหาอ่านกันดูครับ

ก้าวออกจาก Comfort Zone

ผมเพิ่งไปสอนหนังสือมา จริงๆ อย่าเรียกว่าสอนเลย เรียกว่าไปเล่าประสบการณ์ให้นักศึกษาฟังจะตรงกว่า เรื่องของเรื่องก็คือ ที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีสอนวิชา Business Research ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งพูดถึงการเก็บข้อมูลและกระบวนการหนึ่งของการเก็บข้อมูลก็คือ การสัมภาษณ์ อาจารย์ที่สอนก็เลยติดต่อมาให้ผมไปช่วยเล่าให้นักศึกษาฟังหน่อยว่า การสัมภาษณ์ควรทำอย่างไร

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่แล้วนะครับที่ผมได้มีโอกาสไปเล่าให้นักศึกษาฟังในหัวข้อนี้ แต่ความประหม่าและความตื่นเต้นก็ยังเต็มที่เหมือนครั้งแรก คงเป็นเพราะไม่คุ้นกับการบรรยายให้ใครฟังเป็นทางการสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายถามและฟังเสียมากกว่า แต่ถึงจะประหม่าอย่างที่ว่า ผมก็ยินดีไปนะครับ เพราะมองว่าการไปบรรยายอย่างนี้เป็นการช่วยให้ผมได้ออกจาก Comfort Zone ของตัวเองบ้าง

คำว่า Comfort Zone นี้ผมได้ยินครั้งแรกเมื่อประมาณ ๕-๖ ปีก่อนในระหว่างการสัมภาษณ์ซีอีโอบริษัทแห่งหนึ่ง ที่มีการขยายธุรกิจไปในประเทศแถบภูมิภาคนี้ แต่พบปัญหาว่าผู้บริหารของบริษัทไม่อยากย้ายไปทำงานในประเทศเหล่านั้น ด้วยเหตุผลของความไม่คุ้นเคยทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรมและผู้คน ถึงขนาดที่สัญญาว่าถ้าไปแล้วกลับมาจะได้รับการโปรโมทให้ใหญ่ขึ้น ก็ยังไม่ค่อยอยากจะไปกัน

ซีอีโอท่านนั้นสรุปว่า เป็นเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ อากาศก็ดี ภัยธรรมชาติก็ไม่ค่อยมี ทำให้เราอยู่กันง่ายๆ สบายๆ กลายเป็น Comfort Zone ของเรา และพออยู่อย่างนั้นไปนานๆ เราก็ไม่อยากก้าวออกมา เพราะไม่พร้อมที่จะเจอกับการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน และความไม่คุ้นเคย

การจะออกจาก Comfort Zone ของตัวเองนี่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตเสมอไปนะครับ เราเริ่มจากเรื่องเล็กๆ กันก่อนก็ได้ ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ทำไป เพื่อเรียนรู้และลองรับมือกับความไม่คุ้นเคยทีละน้อย อย่างเช่น ลองเปลี่ยนเส้นทางขับรถไปทำงาน เปลี่ยนเมนูอาหารที่เคยกิน เปลี่ยนร้านเจ้าประจำไปกินร้านอื่นดูบ้าง หรือลองเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตวันหยุด จากที่เคยเดินห้างก็อาจจะลองทำอย่างอื่น ฯลฯ

การได้เตรียมตัวทำอะไรที่ไม่คุ้นเคย ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ต้องแก้ปัญหาเมื่อเจอสถานการณ์ไม่คาดคิดหรือไม่ได้เตรียมรับไว้ก่อน ต้องปรับตัวหรือรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งเหล่านี้ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีและแม้จะมีอะไรผิดพลาดขึ้นมา ความเสียหายก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก มองในแง่ดีเราก็ได้รู้ว่า เส้นทางใหม่ที่ลองใช้รถติดมากกว่าเส้นเดิม หรือเมนูนี้มันไม่เวิร์ค

แต่จากที่ผมเคยลองก้าวออกจาก Comfort Zone ของตัวเองดูแล้ว พบว่าหลายครั้งก็เป็นประสบการณ์ที่ดีของชีวิต เหมือนอย่างที่ลองไปบรรยายให้นักศึกษาฟังนี่แหละครับ

หมายเหตุ : ร่างลายมือฉบับแรกก่อนพิมพ์ครับ

buak_comfort_zone_draft_page1

หน้า ๑ – ๒ (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

buak_comfort_zone_draft_page2

หน้า ๓ – ๔ (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

เชียงใหม่ เพื่อนเก่าที่ไม่คุ้นเคย

ผมเพิ่งกลับมาจากเชียงใหม่ เป็นการกลับไปครั้งแรกในรอบ 5 ปี ต้องบอกก่อนว่าไปคราวนี้อยู่แค่ 3-4 วัน และไม่ได้ไปที่ไหนมาก แต่ก็มากพอที่จะเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง

เคยมั้ยครับ เวลาที่เราไปเจอเพื่อนเก่าที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก แต่ห่างหายกันไปตามเส้นทางชีวิตของตัวเอง แล้วกลับมาเจอกันอีกครั้ง แวบแรกของความรู้สึกเราดีใจที่ได้กลับมาเจอกันแล้วเราก็นั่งพูดคุยไต่ถามสารทุกข์สุขดิบถึงชีวิตของแต่ละคน แล้วนั่งคุยกันเรื่องเก่าๆ ที่เราเผชิญมาด้วยกัน แต่หลังจากนี้ล่ะที่เราจะเริ่มหมดเรื่องราวที่จะมาคุยกัน พร้อมๆ กันนั้นเราจะเริ่มพบว่าเพื่อนเรามีบางอย่างที่เปลี่ยนไปจากภาพจำของเราในอดีต (เช่นเดียวกัน เพื่อนเราก็จะคิดอย่างนั้นกับเราเหมือนกัน) และบ่อยครั้งที่เราอยากให้เป็นอย่างเดิมมากกว่า

ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ผมอยู่ที่เชียงใหม่ ผมเริ่มมองเชียงใหม่ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป เป็นสายตาของคนนอก ไม่ใช่คนที่เคยอยู่เชียงใหม่มาสิบกว่าปีอย่างที่เป็นมา เพราะเชียงใหม่ในวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก

อย่างแรกที่รู้สึกได้เลยก็คือ รถเยอะขึ้นมาก ไปทางไหนก็มีแต่รถยนต์ ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากความด้อยประสิทธิภาพของระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นปัญหาดั้งเดิมของเชียงใหม่ ใครที่บ่นว่าระบบขนส่งมวลชนที่กรุงเทพฯ แย่ ลองมาอยู่เชียงใหม่หน่อยเถอะ กลับกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนมุมมองไปเลย และก็นี่เองที่ทำให้คนส่วนใหญ่ขวนขวายที่จะซื้อรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ของตัวเอง เพื่อให้ชีวิตสะดวกขึ้น

ต่อมาก็คือ การก่อสร้างมีเต็มไปหมด ทั้งคอนโดฯ บ้านจัดสรร ศูนย์การค้า ฯลฯ ตอนนี้กำลังมีการก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นเซ็นทรัลแห่งที่ 3 ของเชียงใหม่ รองจากเซ็นทรัล กาดสวนแก้ว และเซ็นทรัล แอร์พอร์ต ขณะที่บริเวณสี่แยกรินคำก็กำลังก่อสร้างศูนย์การค้าเม-ญ่า ของเอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ที่มีกำหนดจะเปิดปลายปีนี้ ยังไม่นับเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ แมคโคร อีกสารพัด ด้านฟากที่อยู่อาศัยก็มีทั้งกลุ่มทุนท้องถิ่นและกลุ่มทุนจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปพัฒนาโครงการกันเพียบ ถามคนที่นั่นก็ได้ความว่า นอกจากกำลังซื้อของคนเชียงใหม่เองแล้ว หลังจากน้ำท่วมใหญ่ก็มีคนกรุงเทพฯ นี่ล่ะมาซื้อที่ซื้อบ้านที่นี่เพื่อเตรียมไว้เป็นที่พักสำรอง

ความคึกคักในลักษณะเช่นนี้ ทางหนึ่งก็บอกว่าดี เพราะมันช่วยให้เกิดการจ้างงาน เศรษฐกิจเติบโต ผู้คนมีเงินจับจ่ายใช้สอย ซึ่งผมไม่ปฎิเสธ ผมไม่ได้เป็นพวกโหยหาอดีตที่อยากจะให้กลับไปนั่งเกวียน ขี่ม้า เดินตลาดสด อะไรอย่างนั้น ติดอยู่นิดเดียวในเรื่องของการวางแผน วางผังและการควบคุมให้การเติบโตที่จะเกิดขึ้นมันเป็นไปโดยที่ไม่ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่โตโดยปราศจากการดูแล ใครอยากได้อะไรก็มาจ้วงเอา จ้วงเอา จนถึงวันหนึ่งที่เสน่ห์ที่ทำให้เชียงใหม่เป็นที่รู้จักมันหายไปจนเอากลับคืนมาไม่ได้อีกเลย

แค่ไม่อยากเห็นเชียงใหม่โตแต่วัตถุ เท่านั้นเอง