นิตยสารผู้จัดการ เป็นฉบับแรกที่ได้สัมภาษณ์พิเศษพี่กานต์หลังรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG
เมื่อหลายวันก่อนประชุมงานกับซัพพลายเออร์ หลังจากคุยกันมาร่วมสี่ชั่วโมง การสนทนาเลยเถิดมาถึง SCG แล้วจังหวะนึงพี่ซัพพลายเออร์พูดขึ้นมาว่า
SCG นี่เขานวัตกรรมอยู่แล้ว
ได้ยินปั๊บชะงักนิดนึง รู้สึกแปลกดีที่ได้ยินประโยคนี้ แสดงว่า SCG มาได้ไกลมาก เพราะภาพของ SCG เมื่อก่อนไม่มาทางนี้เลย
เรื่องนวัตกรรมของ SCG นี่นอกจากจะยกความดีให้กับคน SCG ทุกคนแล้ว โดยส่วนตัวผมขอยกเครดิตส่วนใหญ่ให้คนนี้ครับ คุณกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่คนที่แล้ว และอีกส่วนหนึ่งก็ขอยกให้อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่คนก่อนหน้าคุณกานต์อีกที คือ คุณชุมพล ณ ลำเลียง
ความเป็นมาของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปไกลนิดนึง SCG เริ่มประกาศนโยบายมุ่งสู่นวัตกรรมอย่างชัดเจนในช่วงปลายการดำรงตำแหน่งของคุณชุมพล (สิงหาคม ๒๕๔๗) ในตอนนั้นทุกคนยังเรียก SCG ว่า ปูนซิเมนต์ไทย และตอนจัดงานครั้งนั้นมีการทำแสงสีเป็นรูปช้าง (ในโลโก้) ก้าวออกมาจากกรอบหกเหลี่ยมที่เป็นโลโก้ด้วย สร้างความฮือฮามาก เพราะถ้าเทียบกับมาตรฐานของปูนซิเมนต์ไทยในวันนั้นแล้ว นี่เป็นเรื่องใหญ่มากที่กล้าเล่นกับโลโก้ขนาดนี้
พอพี่กานต์ (ตามที่คุณกานต์พยายามให้ทุกคนเรียก) เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แล้ว (มกราคม ๒๕๔๙) และเริ่มเปิดตัวให้สัมภาษณ์ ทำให้ได้รู้ว่าเรื่องนวัตกรรมนี้เป็นความคิดของพี่กานต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากคุณชุมพลอีกที และเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พี่กานต์ได้รับการพิจารณาให้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
พี่กานต์เล่าถึงเรื่องนี้ว่า ช่วงปี ๒๕๔๕ ทางผู้ใหญ่มีมาถามเรื่องวิสัยทัศน์ว่า SCG ในวันข้างหน้าน่าจะไปทางไหนยังไง พี่กานต์ตอบไปประมาณนึง แต่หนึ่งในนั้นคือ ต้องเน้นนวัตกรรม กับอีกเรื่องคือ อาเซียนจะเพิ่มความสำคัญขึ้นอย่างมาก
หลังจากผู้ใหญ่มาถามสองสามคน พี่กานต์ก็เริ่มเอ๊ะแล้วว่า สงสัยตัวเองจะเป็นแคนดิเดต แต่ก็ไม่ได้มั่นใจอะไรจนกระทั่งต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕ คุณชุมพลมาบอกว่า คณะกรรมการมีมติเลือกให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนต่อไป
และช่วงเวลาหลังจากนั้นถือได้ว่าเป็นช่วงที่ SCG ได้ kick off และเอาจริงเอาจังกับการสร้างนวัตกรรม “อย่างเป็นระบบ” มากที่สุดองค์กรหนึ่งของไทย ซึ่งได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งขององค์กรอายุร้อยปีแห่งนี้ด้วย…