คำแนะนำจาก Steve Jobs ถึง Tim Cook

steve jobs and tim cook

การรับช่วงต่อจากใครสักคนไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

โดยเฉพาะถ้า “คนเก่า” ได้เคยสร้างผลงานที่ดีเลิศเอาไว้ด้วยแล้วยิ่งทำให้แรงกดทับบนบ่าของผู้มาใหม่ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะทุกสายตาล้วนจับจ้องและคาดหวังผลงานในระดับเดิม หากไม่แกร่งจริงอาจอยู่ได้ไม่นาน

เรื่องนี้ถาม David Moyes ดูได้

หันมามองในโลกธุรกิจดูบ้าง หนึ่งในบริษัทที่ถูกจับตามองมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น Apple ซึ่งเป็นผลมาจากการนำของ Steve Jobs ที่กลับเข้ามาบริหารตั้งแต่ปี ๑๙๙๗ และได้พลิกฟื้นฐานะ Apple จากย่ำแย่จนขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำของโลก มีการออกผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติวงการตัวแล้วตัวเล่า ไล่มาตั้งแต่ iPod iPhone และ iPad แต่ปัญหาสุขภาพของ Jobs ในระยะหลังก็ทำให้เริ่มมีการคาดการณ์กันว่าใครจะมาแทนที่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ฟันธงกันว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่มีทางสร้างผลงานได้อย่าง Jobs

หน้าที่นี้ตกเป็นของ Tim Cook

ขณะที่ทุกคนล้วนมองว่า การรับไม้ต่อจาก Jobs น่าจะสร้างความกดดันมหาศาล ในทางกลับกัน Cook อาจไม่มีแรงกดดันเลยก็ได้ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าทุกคนไม่คิดว่าเขาจะแทนที่ Jobs ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคำแนะนำจากตัว Jobs เอง

Cook กล่าวถึงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในการสัมภาษณ์กับ Bloomberg Businessweek ฉบับ ๖ ธันวาคม ๒๐๑๒

เขาเล่าว่า ในช่วงหน้าร้อนปี ๒๐๑๑ Jobs โทรตามให้ Cook ไปที่บ้านเพื่อบอกว่าจะเสนอคณะกรรมการให้แต่งตั้ง Cook เป็นซีอีโอ โดยที่ Jobs จะขยับไปเป็นประธานกรรมการ และ Jobs ได้กล่าวย้ำกับ Cook ว่า

“I never want you to ask what I would have done, Just do what’s right.”

ในช่วงก่อนที่ Jobs จะเสียชีวิตก็ได้ย้ำประโยคนี้อีกครั้ง ซึ่ง Cook เล่าว่า คำแนะนำนี้ช่วยลดแรงกดดันไปได้อย่างมาก

สำหรับ Tim Cook คำแนะนำครั้งนี้อาจเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดที่เขาเคยได้รับจากนายคนนี้เลยก็ได้

ทวิตดีเป็นศรีแก่ตัว ทวิตมั่วระวังตัวให้ดี

fail whale

หลายวันก่อนเกิดเหตุฮือฮาในแวดวงทวิตภพ จริงๆ ก็เป็นเรื่องเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว นั่นคือเรื่องของการทวีตผิดทวีตพลาด แต่ครั้งนี้คนที่ได้พบเจอถึงกับขำไม่ออกและเชื่อว่าต้นสังกัดก็เสียหายเยอะเลยทีเดียว

เปล่า ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องทวีต “ได้เมียกลับบ้านเลย” ของศอ.รส.

แต่เป็นกรณีของสายการบิน US Airways เรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อมีผู้โดยสารของสายการบินนี้ทวิตไปที่ @USAirways ซึ่งเป็นแอคเคานต์ทวิตเตอร์ของสายการบินนี้ ทางผู้ดูแลก็ทวีตข้อความตอบ ซึ่งข้อความมันก็เรียบร้อยดีไม่มีปัญหาอะไร แต่ดันแนบรูปมาด้วยนี่สิครับ แล้วรูปที่แนบมานี่ก็นะ ฮาร์ดคอร์มากกกกก (ผมขออนุญาตไม่ลงรูปที่ว่า ถ้าใครอยากเห็นขอเชิญเสิร์ชกูเกิ้ลด้วยคำว่า us airways tweet photo นะครับ) แล้วทวีตที่มีไอ้รูปที่ว่านี่ก็ออนไลน์อยู่ชั่วโมงกว่าๆ กว่าทางบริษัทจะรู้ตัว

เท่านั้นแหละครับ ลามเป็นไฟลามทุ่งกันเลยทีเดียว ทาง US Airways ต้องออกแถลงการณ์ขอโทษขอโพยกันยกใหญ่ ซึ่งก็แก้ไขความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของบริษัทไม่ได้ ความสูญเสียจากทวีตนี้คิดเป็นมูลค่าก็คงหลักหลายล้านดอลลาร์

เรื่องทวีตที่มีปัญหานี่ ไม่ได้เกิดขึ้นกับบริษัทหรือแบรนด์อย่างเดียวนะครับ คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ก็เจอกันได้ อย่างรายล่าสุดกรณีของ Justine Sacco อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ IAC (ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นเจ้าของเว็บดังๆ ของสหรัฐฯ หลายเว็บด้วยกัน) เธอทวีตก่อนขึ้นเครื่องไปประเทศแอฟริกาใต้ตามภาพด้านล่าง

Justine Sacco tweet

ทวีตเสร็จก็ขึ้นเครื่อง ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรเพราะต่อเน็ตไม่ได้ แต่ปรากฎว่าในระหว่างที่เดินทางอยู่นั้นปฎิกิริยาจากทวีตนี้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต เพราะเนื้อหามันแสดงถึงการเหยียดผิวอย่างรุนแรง ถึงจะบอกว่า “ล้อเล่น” ก็เถอะ พอเครื่องถึงปลายทาง Justine ก็กลายเป็นคนว่างงานไปเรียบร้อย เพราะเธอโดนไล่ออกตั้งแต่ยังอยู่บนเครื่องนั่นแหละ เรื่องอย่างนี้บอกได้เลยว่าทางต้นสังกัดไม่เสี่ยงที่จะเอาชื่อเสียงบริษัทมามัวหมองไปด้วยนะครับ

ก่อนจะกดปุ่มทวีตข้อความหรือรูปภาพ (รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์คเจ้าอื่นด้วยนะ) ก็หยุดคิดซักแว๊บนะครับว่าทวีตนี้จะส่งผลด้านลบตามมามั้ย

ขอให้โชคดีครับ

 

 

เป้าหมายในชีวิต

เป้าหมายในชีวิต

เมื่อเสาร์-อาทิตย์ก่อนที่แผนกผมออกไปสัมมนานอกสถานที่กัน วิทยากรเป็นนายทหารระดับพันเอกมาจากกองทัพบก ในช่วงหนึ่งของการสัมมนา วิทยากรตั้งคำถามว่า เรามีเป้าหมายอะไรในชีวิต?

คำถามข้อนี้ผมตอบได้ทันที ไม่ต้องคิดเลย เพราะอยู่ในความคิดมาตลอดเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ก็คือ อิสรภาพทางการเงิน

ฟังแล้วอาจจะคิดว่า ไอ้นี่โคตรทุนนิยม บูชาเงิน อยากอยู่สบายๆ ไม่ต้องทำงาน เพราะคนส่วนมากเขาก็อยากมีความสุข อยากให้ครอบครัวมีความสุข อยากให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วยกัน

เปล่าเลย ผมไม่ได้ตั้งเป้าหมายแบบนี้เพื่อที่จะไม่ต้องทำงาน เอาเข้าจริงผมนึกภาพตัวเองอยู่เฉยๆ ไม่ทำงานไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ผมแค่อยากมีอิสรภาพทางการเงิน เพื่อจะทำงานอะไรก็ได้ที่ผมอยากทำ ไม่จำเป็นต้องทนทำงานที่ไม่อยากทำเพียงเพราะต้องหาเงินไปเลี้ยงชีพ ผมอยากเลือกได้ว่าทีมงานคนไหนที่อยากร่วมงานด้วย ลูกค้าคนไหนที่ผมอยากทำงานด้วย ใครที่ไม่ซิงค์กันก็ขอเถอะ

แน่นอน อยากจะทำอย่างนี้ได้ต้องไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน

การที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างนี้ มันนำไปสู่การปรับแนวคิดและการปฏิบัติอีกหลายอย่างที่ตามมา

ประการแรก ผมรู้อยู่เต็มอกว่า สายงานที่ทำเลี้ยงชีพอยู่นี้ไม่ได้ผลตอบแทนมากมายอะไรเมื่อเทียบกับสายงานอื่น เมื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าอยากจะมีอิสรภาพทางการเงินก็ต้องรู้จักอดออม เก็บสะสมและลงทุนให้งอกเงย ซึ่งก็นำไปสู่รูปแบบการใช้ชีวิต (หรือจะเรียกว่า ไลฟ์สไตล์) ที่เรียบง่าย กินง่าย อยู่ง่าย ไม่บ้าแบรนด์ ไม่วัตถุนิยม เลือกซื้อเลือกใช้อย่างคุ้มค่า อาจจะไม่ถึงขนาดคำกล่าวที่ว่า “ถ้าอยู่อย่างจนเราจะไม่จน ถ้าอยู่อย่างรวยเราจะไม่รวย” แต่ก็เป็นคติที่พอจะใกล้เคียง ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตมันไม่มาก เป้าหมายที่วางไว้จะได้มาถึงเร็วหน่อย

ประการต่อมา ไม่ว่าจะเก็บเงินได้มากแค่ไหน แต่ถ้าสุขภาพมีปัญหา มันจะไปมีความสุขอะไร ทำอะไรก็ไม่ได้ เงินที่มีก็ต้องเอาไปรักษาตัว ทำให้ต้องรักษาสุขภาพกันอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยออกกำลังกายได้สำเร็จเลย แต่ปีที่แล้วสามารถลุกมาวิ่งตอนเช้าได้ จนตอนนี้ทำได้สม่ำเสมออยู่ตัวแล้ว รู้สึกได้ว่าร่างกายแข็งแรงขึ้น สุขภาพดีขึ้น บวกกับใส่ใจในเรื่องอาหารการกินมากขึ้น กินผักมากขึ้น ลดอาหารที่คอเลสเตอรอลสูงไปบ้าง ลดน้ำอัดลมบ้าง ก็หวังว่าจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคในยามที่สูงวัยกว่าตอนนี้ได้

อีกประการหนึ่งที่ต้องคอยเตือนตัวเองเอาไว้ก็คือ เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้มันก็คือความตั้งใจของเรา ซึ่งในบางครั้ง (หรือหลายครั้ง) อาจมีปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้มาทำให้มันบิดเบนไปบ้าง ก็อย่าได้ท้อใจ อย่าเพิ่งล้มเลิกไปก่อน มันอาจจะเสียเวลาไปบ้าง มีอุปสรรคบ้าง แต่ถ้าเราตั้งใจจริง อดทนอยู่กับมันจริงๆ วันนึงเราต้องไปถึงเป้าหมายได้แน่ หรือถ้าไม่ถึงมันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรเท่าไหร่ สำนวนฝรั่งบอกว่า Reach for the moon, even if you miss, you will land among the stars.

เหมือนอย่างเป้าปืนในรูปประกอบข้างบนนั่นแหละ ทุกคนเล็งที่ตรงกลางเป้า แต่ผลที่ออกมาอาจจะหลุดไปบ้าง เฉไปบ้าง ไม่เข้าตรงกลางแต่มันก็ยังได้คะแนนนะ…

วาระแห่งปี ๒๕๕๗

2014 resolution

ปกติแล้วปีใหม่แต่ละปีที่มาถึงผมไม่เคยมีวาระที่จะทำอะไรเป็นพิเศษ (อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า resolution) แต่เมื่อต้นปีนี้ (๒๕๕๖) เกิดนึกคึกอะไรขึ้นมาไม่รู้ นั่งทำรายการสิ่งที่อยากจะทำให้ได้ในปีนี้เอาไว้ ๔-๕ ข้อ แล้วก็พยายามตั้งใจทำให้ต่อเนื่อง ปรากฎว่าเวิร์ค ทำได้หลายข้อ แล้วก็รู้สึกดีเพราะแต่ละข้อเป็นเรื่องที่อยากทำมานานแต่ไม่เคยทำได้สำเร็จซักที อย่างเช่น การออกกำลังกาย ซึ่งทีแรกเขียนไว้ว่าจะปั่นจักรยาน แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นการวิ่งตอนเช้าแทน ซึ่งก็โอเคมาก หรือการเขียนบันทึก (journal) ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เขียนๆ หยุดๆ พอลิสต์ลงรายการเอาไว้ก็ทำได้บ่อยครั้งขึ้น

สำหรับปี ๒๕๕๗ นี้ หลังจากลิสต์รายการสิ่งที่อยากทำมาแล้ว ตัดเอาเฉพาะเนื้อๆ คัดเฉพาะที่อยากทำให้ได้จริงๆ จะเหลืออยู่ ๓ ข้อ

  • Learn to code
  • Live minimally
  • Keep blogging

ถ้าทำได้จริง ปีนี้จะฟินมาก สาธุ…

จุด ‘ไฟ’ ในใจตน

การเสวนาในงาน Digital Matters ครั้งที่ ๔ / ภาพจาก thumbsup.in.th

เมื่อคืนผมกลับบ้านดึกกว่าปกติ

เปล่าครับ ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนแล้วก็ไม่ได้ติดงานอยู่ที่ออฟฟิศ ผมแวะไปงาน Digital Matters ครั้งที่ ๔ มา ธีมของงานครั้งนี้ก็คือ Content Marketing ทำอย่างไรให้ work

สำหรับรายละเอียดว่างาน Digital Matters เป็นงานเกี่ยวกับอะไร ใครเป็นคนจัด สาระของงานเมื่อคืนนี้มีอะไรบ้าง ขอเชิญติดตามได้ที่ลิ้งค์นี้ http://thumbsup.in.th/2013/10/digital-matters-4-slides-dmatters/ ซึ่งมีรายละเอียดครบถ้วนดีมากอยู่แล้ว

สิ่งที่ผมอยากเล่าไม่ได้เป็นเรื่องของเนื้อหาและสาระภายในงาน แต่เป็นเรื่องของบรรยากาศของงาน

งานเมื่อคืนเป็นการรวมตัวกันของคน ๓๐๐ กว่าคน ตั้งแต่วัย ๒๐ กว่าๆ จนถึง ๔๐ ปลายๆ ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน นั่นคือ สื่อดิจิตอล แม้ว่าแต่ละคนจะอยู่ในสถานะและบทบาทที่แตกต่างกันไป มีตั้งแต่เจ้าของเว็บไซต์ สื่อมวลชน นักการตลาด ดิจิตอล เอเจนซี่ ไปจนถึงผู้บริหารแบรนด์ต่างๆ ที่เริ่มมองเห็นความสำคัญของการใช้สื่อดิจิตอลเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย มีอยู่จำนวนหนึ่งที่เคยมาร่วมงานนี้แล้วในครั้งก่อนๆ แต่มีอีกไม่น้อยที่มาเป็นครั้งแรก (ผมเป็นหนึ่งในนั้น)

สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้เลยจากบรรยากาศที่อบอวลอยู่ภายในงานก็คือ แทบทุกคนในที่นั้นทำบทบาทของตัวเองด้วยความสนุก ทำเพราะอยากจะทำ ไม่ได้ทำเพราะคิดแค่ว่ามันเป็นหน้าที่

แปลกเหมือนกันที่เราสามารถสัมผัสได้ถึงพลังและความมุ่งมั่นที่คนอื่นส่งออกมาได้ โดยที่ไม่ต้องเปิดปากคุยกันด้วยซ้ำ

ตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่าที่อยู่ในงาน พลังที่ว่านี้ค่อยๆ จุด ‘ไฟ’ บางอย่างในตัวขึ้นมา และพาผมนึกย้อนไปถึงบางสิ่งบางอย่างที่เคยริเริ่มเอาไว้แต่ก็ไม่ได้สานต่อมานานแล้วด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา

ผมจะลองลบข้ออ้างออกทีละข้อ แล้วเอากลับมาทำด้วยความสนุก ทำเพราะอยากทำเหมือนเมื่อครั้งที่เริ่มต้นดูอีกซักที ผลจะออกมายังไงก็ช่างมัน

นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ได้โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน จากการไปงาน Digital Matters เมื่อคืนครับ

แรงบันดาลใจอยู่ที่ร้านหนังสือ

Kinokuniya Siam Paragon

ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือคนทำงาน ผมเชื่อว่าในบางห้วงเวลาแต่ละคนล้วนต้องการ “แรงบันดาลใจ”

แรงบันดาลใจที่จะช่วยดึงตัวเองขึ้นมาจากเตียงในตอนเช้าเพื่อมาทำงาน แรงบันดาลใจที่จะออกกำลังกาย แรงบันดาลใจที่จะลดน้ำหนัก ฯลฯ

แน่นอนว่า่แต่ละคนจะมีแหล่งแรงบันดาลใจแตกต่างกันไป อาจเป็นได้ทั้งสถานที่ กิจกรรม หรือตัวบุคคล หลายคนใช้โรงภาพยนตร์เป็นที่สร้างแรงบันดาลใจ บางคนไปทะเล ภูเขา คนจำนวนไม่น้อยใช้การช็อปปิ้งเป็นการเติมพลัง

สำหรับผม แรงบันดาลใจอยู่ที่ร้านหนังสือ

เมื่อหมดพลังจากการทำงาน ขาดแรงใจ หรือรู้สึกอับทึบทางปัญญา ผมใช้ร้านหนังสือเป็นที่บำบัด การขลุกอยู่ในร้านหนังสือเป็นชั่วโมงๆ อาจฟังดูแปลกและไม่ใช่พฤติกรรมที่คุ้นเคยของใครหลายคน แต่เวลาที่หยิบจับ สัมผัสเนื้อกระดาษ พลิกอ่านเนื้อหา เลือกดูอาร์ตเวิร์คอยู่นั้น ผมรู้สึกเหมือนมีพลังงานชาร์จเข้ามาในตัว เป็นเหมือนคนไข้ที่ผ่านการเยียวยา บางครั้งแม้ยังไม่หายขาดแต่อาการก็ดีขึ้นมาก พร้อมที่จะออกไปสู้ชีวิตกันต่อ

ในบรรดาร้านหนังสือ (ในประเทศ) ที่มีโอกาสได้เข้าไปใช้บริการ ขอบอกว่าอันดับหนึ่งในดวงใจในตอนนี้ผมยกให้ Kinokuniya สาขาสยามพารากอน

ด้วยปริมาณหนังสือที่มี บวกกับประเภทหนังสือแต่ละปกที่เลือกมาวาง ไปจนถึงบรรยากาศของร้าน รวมๆ กันแล้วโดนมาก

พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่สนใจร้านหนังสือขนาดเล็ก ร้านหนังสืออิสระ และร้านหนังสือมือสอง ซึ่งแต่ละร้านก็มีข้อดีและจุดเด่นของตัวเอง เอาไว้มีโอกาสเรามาแลกเปลี่ยน “ร้านหนังสือในดวงใจ” กัน

สำหรับเครือข่ายร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสองเครือนั้น ในฐานะคนอ่านต้องบอกว่ายังไม่ใช่และยังไม่โดนครับ

9/11 วันนี้ไม่เหมือนเดิม

GroundZeroFlag

เมื่อหลายปีก่อนจังหวะชีวิตการทำงานของผมเปิดโอกาสให้ได้ไปเยือนกรุงนิวยอร์คเป็นเวลาสั้นๆ แน่นอนว่าเด็กต่างจังหวัดในครอบครัวข้าราชการอย่างผมย่อมตื่นเต้นเป็นธรรมดา นิวยอร์คเป็นนครแห่งเงินตรา แสงสีและมีเดีย เป็นเมืองหลวงแห่งโลกการเงิน Wall Street อยู่ที่นี่ FED ก็อยู่ที่นี่ สื่อระดับโลกมากมายอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น TIME BusinessWeek Fortune Vanity Fair ที่เคยพลิกอ่านล้วนอยู่ที่นี่ ยังมีหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในโลกอย่าง The New York Times ก็อยู่ที่นี่

ก่อนออกเดินทางผมใช้เวลาพักใหญ่ไปกับการเตรียมตัว นั่นคือ การลิสต์รายชื่องานศิลปะ ศิลปะวัตถุ รวมไปถึงสถานที่ต่างๆ ที่อยากดูอยากไปเห็น

หนึ่งในนั้นคือ Wall Street

ผมไป Wall Street ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งผู้คนไม่พลุกพล่านวุ่นวาย สามารถเดินดูเดินถ่ายรูปได้ไม่เกะกะใคร หลังจากเดินวนไปวนมาจนหนำใจ (ถ้ามีโอกาสจะเก็บมาเล่าอีกที) ก็ตัดสินใจเดินไป Ground Zero ที่เคยเป็นที่ตั้งของตึกแฝด World Trade Center

Ground Zero ในวันนั้นรื้อถอนขนย้ายซากปรักหักพังออกไปแล้ว เริ่มมีการเคลียร์พื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้างโครงการใหม่ที่จะขึ้นมาแทนตึกแฝดในวันข้างหน้า บริเวณโดยรอบยังคงมีภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีศิลปินมาทำงานศิลปะเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต และมีนักท่องเที่ยวมาชมสถานที่ที่ครั้งหนึ่งได้เคยเกิดเหตุการณ์เศร้าสลดขึ้น

ก่อนหน้าเหตุการณ์ 9/11 ผมเคยได้ยินได้อ่านคำกล่าวที่ว่า Everyone remember where were they and what were they doing when Kennedy was shot. (แปลคร่าวๆ ตามประสาเด็กต่างจังหวัดได้ว่า ทุกคนล้วนจำได้ว่าตอนที่ Kennedy โดนยิง ตัวเองอยู่ที่ไหนและทำอะไรอยู่) ผมไม่เข้าใจเลยว่ามันหมายความว่ายังไง ถามฝรั่งที่ทำงานด้วยกันก็ไม่ได้คำตอบที่ช่วยให้กระจ่าง

จนกระทั่งเกิดเหตุ 9/11 ผมถึงเข้าใจ

วันนี้เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ๑๒ ปีเต็ม ผมยังจำได้แม่นเลยว่า ตอนที่รู้ข่าวเครื่องบินพุ่งชนตึกแฝดตอนนั้นผมอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ โทรหาใคร จำได้กระทั่งว่าฟีลของตัวเองตอนนั้นเป็นยังไง

นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่จะมีเพียงไม่กี่ครั้งในชีวิต ถึงจะไม่ได้เกิดกับเราโดยตรงแต่มันจะฝังอยู่ในใจและคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเลือนหายไป

First draft of 9/11 is not the same post

ร่างแรกของโพสต์นี้ครับ

แง่มุมธุรกิจจาก The Godfather

หมายเหตุก่อนอ่าน : บทความชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับ July 2004 การนำมาโพสต์ครั้งนี้ไม่ได้มีการดัดแปลง เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงข้อความหรือเนื้อหาใดๆ ยกเว้นเปลี่ยนตัวเลขให้เป็นเลขไทย

ช่วงปลายปี ๒๕๔๕ นิตยสาร Forbes ของสหรัฐอเมริกาได้ทำการคัดเลือกภาพยนตร์ด้านธุรกิจที่ดีเด่นสุดยอด ๑๐ อันดับแรก โดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ นักวิจารณ์ คนเขียนบทและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ซึ่งถึงแม้ภาพยนตร์ด้านธุรกิจจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาพยนตร์แอคชั่นและรักโรแมนติค แต่ภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่งอย่าง Citizen Kane ก็เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวในแวดวงธุรกิจนั้นก็มีสีสันและ Story ที่ดีพอจะสร้างเป็นภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมได้เช่นเดียวกัน

ผลจากการคัดเลือกของคณะกรรมการในครั้งนั้นมีภาพยนตร์บางเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ทราบผล นั่นคือ The Godfather ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ติดอยู่ในอันดับ ๔ และ The Godfather Part II ที่ครองอันดับ ๒ เพราะเมื่อดูจากเนื้อเรื่องและแนวทางของภาพยนตร์ทั้ง ๒ เรื่องนี้แล้ว ไม่น่าจะมาติดอันดับภาพยนตร์ด้านธุรกิจได้ แต่คณะกรรมการก็ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าทั้ง ๒ เรื่องนี้เหมาะสมแล้วที่จะได้รับการจัดอันดับตามที่ประกาศออกมา

The Godfather ฉบับภาพยนตร์สร้างขึ้นจากบทประพันธ์ในชื่อเดียวกันของ Mario Puzo ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๑๒ เมื่อประสบความสำเร็จยอดขายถล่มทลายก็ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายใน ๓ ปีถัดมา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในด้านรายได้และคำชมจากนักวิจารณ์ทั่วไป ความยอดเยี่ยมในเชิงภาพยนตร์ของ The Godfather นั้นขอละเอาไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอพูดถึงแง่มุมในด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่เราพบเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้แทน

The Godfather แสดงให้เราได้เห็นว่า ในสังคมธุรกิจนั้น “เครือข่าย” หรือ Network เป็นสิ่งสำคัญมาก บทบาทของดอนวีโต คอร์เลโอเน ผู้เป็นประมุขของตระกูลคอร์เลโอเนนั้นเป็นทั้งศูนย์กลางของเครือข่ายแห่งหนึ่ง และยังเป็นตัวเชื่อมไปยังศูนย์กลาง (ประมุข) เครือข่ายแห่งอื่นอีกด้วย เราได้เห็นฉากการเจรจาระหว่างดอนคอร์เลโอเนกับประมุขตระกูลอื่นที่ประสงค์จะขอใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของคอร์เลโอเน แลกกับผลตอบแทนในรูปของส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจค้ายาเสพติด เท่ากับว่าเครือข่ายที่มีอยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็น “ทุน” ประเภทหนึ่ง ที่สามารถก่อให้เกิดธุรกิจขึ้นได้ ถ้าจะเรียกกันตามภาษาในยุคบูรณาการก็ต้องว่า “แปลงเครือข่ายเป็นทุน” นั่นเอง

สิ่งนี้ไม่ต่างจากแวดวงสังคมธุรกิจไทยมากนัก เราได้เห็นธุรกิจที่เกิดขึ้นและดำเนินไปภายใต้ปัจจัยของการเป็น “คนรู้จักกัน” จำนวนไม่น้อย ยิ่งในช่วงหลายสิบปีก่อน ที่สังคมธุรกิจไทยจะมีตระกูลใหญ่ครอบครองอยู่เพียงไม่กี่สิบตระกูลเท่านั้น เรามักได้ยินข่าวคราวการแต่งงานกันระหว่างลูกหลานของคนในตระกูลใหญ่เหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่งจุดหนึ่งก็เพื่อสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างตระกูลเพื่อช่วยเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจนั่นเอง

หรือในยุคสมัยใหม่ หลักสูตรการเรียน MBA ที่ฮิตนักหนานั้นก็มีส่วนช่วยต่อการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจได้เช่นกัน

The Godfather ยังแสดงให้ผู้ชมได้เห็นความสำคัญของ “ข้อมูล” อย่างเป็นรูปธรรม ดังในฉากที่ไมเคิล คอร์เลโอเน บุตรชายคนเล็กของดอนคอร์เลโอเนจะต้องไปเจรจาสงบศึกกับคู่อริของตระกูล ก่อนหน้าการเจรจาได้มีการสั่งการให้สืบหาสถานที่ที่จะใช้เป็นที่เจรจาโดยด่วน เพื่อจัดเตรียมอาวุธไว้ให้ไมเคิลใช้สังหารคู่เจรจาก่อนที่จะหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่ซิซิลี หากไม่สามารถหาข้อมูลสำคัญนี้มาได้หรือได้ข้อมูลที่ผิดพลาด ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นคงยากที่จะประเมินได้

ซึ่งก็นำมาสู่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำธุรกิจ คือ การเสาะแสวงหาข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สายลับ เราได้เห็นดอนคอร์เลโอเนสั่งการให้ลูกสมุนที่ไว้ใจมากที่สุดคนหนึ่งพยายามไปฝังตัวเป็นสายลับในองค์กรคู่อริ ขณะเดียวกันดอนของตระกูลคู่อริก็พยายามซื้อตัวคนใกล้ชิดของดอนคอร์เลโอเนให้แปรพักตร์ด้วยเช่นกัน เรื่องราวเหล่านี้สำหรับสังคมธุรกิจอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากเหลือเกิน รวมทั้งยังเกิดขึ้นแล้วจริงๆ หลายครั้งหลายคราในหลายองค์กรด้วยกัน

หากเรามององค์กรอาชญากรรมของตระกูลคอร์เลโอเนเป็นองค์กรธุรกิจ การตระเตรียมทายาทเพื่อรอถึงวันส่งมอบองค์กรให้ครอบครองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย เพราะเหตุที่ไม่คาดคิดหลายประการอาจเกิดขึ้นกับตัวผู้นำิองค์กรได้ทุกเมื่อ ใน The Godfather เองเราได้เห็นดอนคอร์เลโอเนพยายามสั่งสอนซันนี ผู้เป็นลูกชายคนโตให้เรียนรู้หลักการบริหารกิจการของตระกูล รวมทั้งกลเม็ดต่างๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของตระกูล

แต่เหมือนดังคำกล่าวที่ว่าเอาไว้ “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” เพราะซันนี คอร์เลโอเนต้องประสบเหตุร้ายที่คาดไม่ถึง ทำให้ไมเคิล บุตรชายคนเล็ก ผู้ซึ่งไม่เคยแสดงความต้องการที่จะมารับช่วงกิจการของตระกูลเอาเสียเลย กลับต้องมารับหน้าที่นี้ และก็เป็นไมเคิลนี่เองที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่สุดและสามารถนำพากิจการของตระกูลคอร์เลโอเนให้รุ่งเรืองและเริ่มก้าวออกจากเงามืดมาสู่ธุรกิจถูกกฎหมายมากขึ้นได้สมความใฝ่ฝันของดอนคอร์เลโอเน

นั่นแสดงให้เห็นว่า ทายาทธุรกิจที่เหมาะสมนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นบุตรคนแรกหรือผู้มีอาวุโสสูงสุดเสมอไป หากแต่ควรจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากที่สุดมากกว่า องค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยอย่างน้อยสองแห่งที่ผู้นำองค์กรคนปัจจุบันมิได้เป็นบุตรชายคนโตของตระกูล คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี และบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ผู้นำเครือสหพัฒน์ ซึ่งทั้งสองก็สามารถนำพากิจการของตระกูลให้เติบโตและขยายออกไปได้มากจนเป็นองค์กรชั้นนำของไทยในปัจจุบัน

หมายเหตุ : เมื่อกล่าวถึงแง่มุมด้านธุรกิจจาก The Godfather แล้ว ขอกล่าวถึงตัว The Godfather เองสักเล็กน้อย หนังสือ The Godfather ที่เขียนโดย Mario Puzo ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ มียอดขายรวมจนถึงวันนี้ประมาณ ๑๖๐ ล้านเหรียญ ส่วนภาพยนตร์ The Godfather ที่กำกับโดย Francis Ford Coppola ทั้ง ๓ ภาคนั้น ทำรายได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาได้ถึง ๔๕๐ ล้านเหรียญ ๑๔๕ ล้านเหรียญและ ๙๐ ล้านเหรียญตามลำดับ และได้มีการประเมินกันว่าเมื่อรวมรายได้ที่เกิดจาก The Godfather ทั้งหมด ทั้งจากยอดขายหนังสือ รายได้จากภาพยนตร์ รวมทั้วยอดขายของวิดีโอและดีวีดีและอื่นๆ แล้ว คาดว่าจะมียอดเกินกว่า ๑ พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

Corporate Thailand July 2004

[นิตยสาร Corporate Thailand ฉบับ July 2004 ที่ตีพิมพ์ข้อเขียนชิ้นนี้ครั้งแรก]

ข้อดีของวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนที่ ๒

ครั้งที่แล้วผมเล่าถึงข้อดีของวิกฤติต้ายำกุ้งข้อแรกไปแล้ว เป็นเรื่องของการงาน ครั้งนี้ข้อสองเป็นเรื่องของการเงิน ซึ่งก็ต่อเนื่องมาจากข้อแรก

นั่นคือ วิกฤติต้มยำกุ้งทำให้ได้ซาบซึ้งกับวลีที่ว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ และนอกจากไม่มีหนี้แล้วยังต้อง มีเงินเก็บ ด้วยนะครับ

บทเรียนข้อนี้แลกมาด้วยหยาดเหงื่อชนิดที่ผ่านมาแล้วสิบกว่าปียังจำได้ไม่ลืม

อย่างที่ได้เล่าไปว่า ช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งบริษัทที่ผมทำงานอยู่ลดเงินเดือนลง ๓๐% แถมบางเดือนก็จ่ายล่าช้าไม่ตรงตามกำหนด แต่ตอนนั้นผมผ่อนทั้งบ้านทั้งรถตามประสาคนกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งธนาคารกับไฟแนนซ์ที่เป็นเจ้าหนี้ไม่รับรู้ด้วย เขารู้แค่ว่าถึงกำหนดต้องจ่ายมาตามจำนวน ดอกเบี้ยเงินกู้บ้านขึ้นไปที่ ๑๖% ถ้าจ่ายช้าดอกก็เพิ่ม ชีวิตตอนนั้นต้องปากกัดตีนถีบเอาเรื่องอยู่นะครับ

ทำงานประจำจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์อาทิตย์ขนของขึ้นรถไปเปิดท้ายขายของ ตระเวนไปแต่ละอาทิตย์ ตั้งแต่บิ๊กซี ราชดำริ หมู่บ้านเมืองเอก ฟิวเจอร์ปาร์ค บางแค ถนอมมิตร พาร์ค ที่วัชรพล ฯลฯ แรกๆ ก็เอาข้าวของในบ้านไปขาย พวกเทปคาสเซ็ทต์ที่สะสมเอาไว้ สมุดบันทึกที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ ข้าวของที่ระลึก สิ่งละอันพันละน้อย จนเริ่มเหลือน้อยก็ไปหาของมาขาย ตอนนั้นคนกำลังเริ่มฮิตต่อจิ๊กซอว์ ก็ไปรับจากสำเพ็งมาขาย อีกสักพักคนเริ่มขายกันเยอะ ก็ไปเอาถุงน่องจากโบ๊เบ๊มาขายเพิ่มเข้าไป มีน้องที่รู้จักทำเสื้อยืดขายอยู่โบ๊เบ๊ก็ไปรับมาขาย น้องคนนี้ก็ดีมากให้เอาเสื้อมาก่อนขายได้ค่อยเอาเงินไปให้ (ขอบคุณมากนะดุ๊ย) พอขายของเสร็จกลับบ้านค่ำมืดก็มานั่งทำงานบ้านต่อ เช้าวันจันทร์ก็ไปทำงาน

ชีวิตวนเวียนอย่างนี้อยู่พักใหญ่

จนวันนึงคิดว่า ไม่ไหวแล้ว ก็พอดีได้งานใหม่ เงินเดือนมากขึ้น จ่ายเงินเดือนตรงเวลา ก็เริ่มหายใจหายคอได้บ้าง จากนั้นก็เร่งโปะหนี้ ไล่ไปทีละอย่าง ทยอยโปะบัตรเครดิตจนหมด ตามด้วยโปะบ้าน ใช้เวลาหลายปีจนในที่สุดก็เป็นไท

หนี้ก็เหมือนไขมัน ถ้ามีมากก็ทำให้เราอุ้ยอ้าย จะขยับเนื้อขยับตัวก็ไม่สะดวก

วันที่หมดหนี้เป็นวันที่มีความสุขมากที่สุดวันนึงนะครับ

หลังจากนั้นผมเก็บเงินเป็นเรื่องเป็นราว พยายามเป็นหนี้ให้น้อยที่สุด เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า เมื่อไหร่ที่วิกฤติจะกลับมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงว่าระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้มันโยงใยผูกพันกันไปหมด บางทีวิกฤติรอบหน้าอาจจะไม่ได้เกิดจากตัวเราเองแต่เราโดนลูกหลงของคนอื่นก็อาจเป็นได้

ถ้าวันนั้นมาถึง คนที่ตัวเบาที่สุดจะเหนื่อยน้อยที่สุด

Cash is King ครับ

ข้อดีของวิกฤติต้มยำกุ้ง

พรุ่งนี้ก็ ๒ กรกฎาคมแล้วนะครับ ถือเป็นวันที่มีความสำคัญระดับจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์โลกได้เหมือนกันว่า วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ เป็นวันที่รัฐบาลไทยประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว (ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินบาทไหลจากระดับ ๒๕ บาทต่อดอลลาร์ไปทำสถิติเอาไว้ที่ ๕๕ บาทต่อดอลลาร์) และถือเป็นจุดเริ่มอย่างเป็นทางการของวิกฤติการเงินครั้งสำคัญของไทยที่ชาวต่างชาติพร้อมใจขนานนามให้ว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง

ต่อมาก็ลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ แถบนี้จนกลายเป็นวิกฤติการเงินเอเชีย หลังจากนั้นก็ขยายวงออกไปภูมิภาคอื่น จนปะทุเป็นวิกฤติประเทศเศรษฐกิจใหม่ในที่สุดและทุกครั้งที่มีใครหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก็จะต้องพาดพิงถึงประเทศไทยในฐานะตัวต้นเหตุให้เราได้ภาคภูมิใจกันทุกครั้งไป (มั้ย?)

ผลกระทบของวิกฤติต้มยำกุ้งนี่ถ้าเล่าให้คนที่โตไม่ทันได้ฟังอาจจะนึกว่าโม้ เพราะมันเจ๊งกันแทบจะทั้งประเทศ บริษัทไฟแนนซ์หายไปหลายสิบแห่ง โดยที่หลายบริษัทเป็นบริษัทระดับท็อปของประเทศ ธนาคารที่เชื่อกันว่ามั่นคง ไม่ล้มกันง่ายๆ ก็โดนยุบไปรวมกับธนาคารอื่น และมีอีกหลายแห่งที่ไม่ถูกยุบแต่เจ้าสัวนายแบงค์ต้องยอมให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นมากขึ้นเพื่อเอาตัวให้รอด

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังๆ ตอนนั้นแทบจะเจ๊งเรียบ โครงการก่อสร้างที่แย่งกันขึ้น แข่งกันสร้าง กลายเป็นโครงการร้าง สร้างต่อไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน แต่ถึงบริษัทมีเงินสร้างก็ไม่มีคนซื้อ เพราะตกงานกันเพียบ มันแย่ถึงขนาดที่คนระดับ ชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสแบงค์กรุงเทพ ออกมาบอกนักข่าวว่า เจ้าสัววันนี้ไม่มีแล้ว มีแต่เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์

ขนาดนายแบงค์ยังเป็นอย่างนี้ แล้วคนธรรมดาจะไปเหลืออะไร

แต่วิกฤติต้มยำกุ้งก็ยังมีข้อดีอยู่นะครับ เอาข้อที่ฝังใจผมและส่งผลต่อการทำงานของผมมากที่สุดก็คือ วิกฤตินี้ทำให้รู้ได้ว่า ความมั่นคงในอาชีพการงานมันไม่มีอีกต่อไปแล้ว

ทำไมผมถึงคิดอย่างนี้

ก่อนหน้าวิกฤติต้มยำกุ้งเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องมาร่วมสิบปี คนที่เรียนจบออกมาทำงานไม่กี่ปีก็มีบัตรเครดิต ซื้อบ้าน ซื้อรถ กันได้ง่ายๆ แบงค์เองก็ปล่อยกู้สบายๆ เพราะรู้ว่าลูกหนี้มีกำลังผ่อนได้อยู่แล้ว

พอเกิดวิกฤติปั๊บ เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงกลางกบาล เอากรณีผมแล้วกัน บริษัทเอาคนออกไปเกือบครึ่งนึง งานก็เลยเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า เงินเดือนถูกลดไป ๓๐% แถมบางเดือนออกช้าอีกต่างหาก แต่มีงานทำก็ยังดีกว่าไม่มี เพราะเวลานั้นคนตกงานกันเป็นแสน ไม่มีใครมองหางานใหม่ ก็ไม่มีที่ไหนรับคนเพิ่ม มีแต่เล็งจะเลิกจ้าง แค่รักษางานเอาไว้ได้นี่ก็มหัศจรรย์แล้ว

สถานการณ์อย่างนี้จะไปหาความมั่นคงในอาชีพจากที่ไหน ถึงเวลาจะผ่านมาแล้วก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอย่างนี้อีกมั้ย

แต่ข้อดีอยู่ตรงนี้ครับ พอรับรู้ได้ว่า เราไม่สามารถมองหาความมั่นคงในอาชีพได้แล้ว มันก็เลยเกิดแรงผลักดันมาจากข้างในให้ต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุด ก่อนหน้านี้เคยทำได้อยู่อย่างเดียว ก็เริ่มหัดทำอย่างอื่นด้วย ไอ้ของที่ทำอยู่ก็หาวิธีทำให้ดีขึ้นไปอีก อะไรที่ขาดก็หามาเติม ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อที่ว่า ถ้าปุบปับเกิดอะไรขึ้นมา เราก็จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในตลาดแรงงาน (ผมมีความสุขดีกับการเป็นลูกจ้างครับ)

พอทำอย่างนี้ไปได้สักพัก กลายเป็นว่ามันช่วยเปิดโอกาสให้กับชีวิต ผมมีโอกาสได้ทำงานดีๆ งานที่ทำแล้วมีความสุขต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้

ต้องขอบคุณวิกฤติต้มยำกุ้งนะครับ