เมื่อวานมีข่าวที่ทำให้ใจหายมาก
ตลอดชีวิตการทำงานเป็นนักข่าวมา ๒๐ กว่าปี (ทุกวันนี้ก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นนักข่าวอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนสถานภาพไป) มีแหล่งข่าวไม่กี่คนที่ผมให้ความนับถือและยิ่งเป็นแหล่งข่าวในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนก็ยิ่งมีน้อยลงไปอีก
คุณวิโรจน์ นวลแข เป็นหนึ่งในนั้น
ผมมีโอกาสได้พบและสัมภาษณ์คุณวิโรจน์ไม่บ่อยครั้งนักเนื่องจากสายงานที่ทำในช่วงแรกไม่ตรงกับคุณวิโรจน์ แต่ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ผมมีโอกาสได้ทำข่าวปรส. ซึ่งเป็นช่วงที่ทำข่าวสนุกที่สุดและได้พัฒนาตัวเองมากที่สุด (ในขณะที่สถานการณ์การเงินในช่วงนั้นย่ำแย่ที่สุดด้วย) ผมมีโอกาสได้พบและสัมภาษณ์คุณวิโรจน์แบบ exclusive หลายครั้งด้วยกัน เนื่องจากผู้บริหารคนหนึ่งที่บริษัทเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนวชิราวุธกับคุณวิโรจน์ ทำให้เราสามารถเชิญคุณวิโรจน์มาให้ความรู้และให้สัมภาษณ์ได้ถึงที่ออฟฟิศ
ครั้งหนึ่งทีมงานเรานั่งเตรียมตัวกันอยู่ในส่วนรับรองแขกในห้องทำงานท่านเจ้าสำนัก เมื่อคุณวิโรจน์มาถึงสิ่งแรกที่ทำ (โดยที่ยังไม่นั่งลง) คือยื่นมือมาจับมือกับผู้บริหารที่เป็นเพื่อนโรงเรียนที่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ผมยังจำภาพนั้นได้ติดตาจนถึงวันนี้ หลังจากวันนั้นเวลาได้ยินใครพูดถึงเรื่องความผูกพันกันของเด็กวชิราวุธผมไม่มีข้อกังขาอีกเลย ด้วยภาพคุณวิโรจน์จับมือกับเพื่อนโดยที่ไม่ต้องเอ่ยอะไรออกมาเลยแต่สีหน้าและแววตามันบอกออกมาแทน
ในช่วงนั้นนอกจากการสัมภาษณ์แบบเจอตัวกันแล้ว บางครั้งที่ได้ประเด็นใหม่ๆ มาผมยังต้องโทรศัพท์ไปรบกวนขอความรู้และความเห็นจากคุณวิโรจน์ด้วย โดยที่ท่านเจ้าสำนักให้เบอร์โทรศัพท์มือถือมาพร้อมกับบอกว่า “บวก มึงเอาเบอร์คุณวิโรจน์ไป บอกว่าได้เบอร์มาจากพี่” ด้วยความเกรงใจ ผมโทรศัพท์ไปรบกวนคุณวิโรจน์เพียงสองครั้ง ซึ่งทั้งสองครั้งได้รับความกรุณาจากคุณวิโรจน์เป็นอย่างดี
หลังจากช่วงนั้นผมได้พบคุณวิโรจน์อีกเพียงสองครั้ง โดยเป็นช่วงที่คุณวิโรจน์พ้นจากตำแหน่งที่ธนาคารกรุงไทยแล้ว ครั้งแรกผมไปทำข่าวเปิดตัวบัตรเครดิตเจ้าหนึ่งที่เกาะสมุย ระหว่างที่เดินรอเวลาเริ่มงานอยู่กับเพื่อนนักข่าวสองสามคน เราเจอคุณวิโรจน์ในชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้น รองเท้าวิ่ง ในตอนนั้นคุณวิโรจน์น่าจะอายุใกล้ๆ ๖๐ หรือ ๖๐ กว่าแล้ว แต่ยังดูฟิตมาก เมื่อยกมือไหว้สวัสดีเป็นที่เรียบร้อยเราถามถึงชีวิตในช่วงนั้น รายละเอียดผมจำไม่ได้แต่ที่จำได้คือ คุณวิโรจน์บอกว่าช่วงนี้อ่านหนังสือ เมื่อถามว่าอ่านหนังสือแนวไหน คุณวิโรจน์ตอบว่า พวกแมเนจเมนต์ไม่ได้อ่านแล้วเพราะไม่ได้ใช้ ช่วงนี้อ่านหนังสือธรรมมะ
อีกหลายปีต่อมาผมได้พบคุณวิโรจน์อีกครั้ง ตอนนั้นผมเป็นบรรณาธิการนิตยสารธุรกิจฉบับหนึ่ง เรามีกิจกรรมอีเวนต์เล็กๆ กับคนอ่านและสมาชิก โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาพูดให้คนอ่านที่สนใจได้เข้ามาฟัง ครั้งหนึ่งเราเลือกสถานที่จัดเป็นบูทีกโฮเต็ลย่านใจกลางเมือง ซึ่งมาทราบก่อนจัดงานไม่กี่วันว่าเป็นของลูกคุณวิโรจน์
ในวันงาน ระหว่างที่ผู้อ่านทยอยเข้ามาลงทะเบียน คุณวิโรจน์เดินผ่านประตูเข้ามา เมื่อเห็นมีการลงทะเบียนกันอยู่ก็เดินมาถามว่าจัดงานอะไร หลังจากที่ผมอธิบายเสร็จคุณวิโรจน์ก็ถามถึงนิตยสารที่ทำอยู่ ซึ่งในเวลานั้นเป็นนิตยสารธุรกิจหัวนอกที่ซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นฉบับภาษาไทยเล่มแรกในวงการ คุยกันสักพักคุณวิโรจน์ก็ปลีกตัวไป
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะเล่าถึงคุณวิโรจน์ก็คือ ช่วงที่คุณวิโรจน์เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย หลายคนอาจโตไม่ทันหรือบางคนอาจจำไม่ได้ ช่วงนั้นเพิ่งพ้นจากต้มยำกุ้งมาได้ไม่นาน ธนาคารในประเทศยังอาการหนักและเข็ดขยาดกับการจัดการลูกหนี้ ทำให้แทบทุกธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ซึ่งในทางเศรษฐกิจเมื่อแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อภาค real sector ก็เดินไม่ได้ แบงก์เองก็แย่เพราะเงินฝากท่วมแบงก์ มีแต่ดอกเบี้ยจ่ายไม่มีดอกเบี้ยรับ
ธนาคารกรุงไทยภายใต้การคุมบังเหียนของคุณวิโรจน์เป็นแบงก์แรก (ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลในเวลานั้น เพราะเป็นแบงก์รัฐ) ที่ลุกขึ้นมาปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นจริงเป็นจัง หลายคนอาจพอจะจำเพลงโฆษณาที่ร้องว่า “เงินกำลังจะหมุนไป กำลังจะหมุนไป ให้ชุมชน…” ได้
อันนี้แหละครับที่เป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นและสร้างความมั่นใจให้แบงก์กล้าปล่อยสินเชื่ออีกครั้งและทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ในตอนนั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ที่ผมพอจะทำได้คือ ขอคุณอำนาจพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงดลบันดาลให้เคราะห์หรือกรรมเก่าของคุณวิโรจน์หมดไปโดยเร็ว