พรุ่งนี้ก็ ๒ กรกฎาคมแล้วนะครับ ถือเป็นวันที่มีความสำคัญระดับจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์โลกได้เหมือนกันว่า วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ เป็นวันที่รัฐบาลไทยประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว (ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินบาทไหลจากระดับ ๒๕ บาทต่อดอลลาร์ไปทำสถิติเอาไว้ที่ ๕๕ บาทต่อดอลลาร์) และถือเป็นจุดเริ่มอย่างเป็นทางการของวิกฤติการเงินครั้งสำคัญของไทยที่ชาวต่างชาติพร้อมใจขนานนามให้ว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง
ต่อมาก็ลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ แถบนี้จนกลายเป็นวิกฤติการเงินเอเชีย หลังจากนั้นก็ขยายวงออกไปภูมิภาคอื่น จนปะทุเป็นวิกฤติประเทศเศรษฐกิจใหม่ในที่สุดและทุกครั้งที่มีใครหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก็จะต้องพาดพิงถึงประเทศไทยในฐานะตัวต้นเหตุให้เราได้ภาคภูมิใจกันทุกครั้งไป (มั้ย?)
ผลกระทบของวิกฤติต้มยำกุ้งนี่ถ้าเล่าให้คนที่โตไม่ทันได้ฟังอาจจะนึกว่าโม้ เพราะมันเจ๊งกันแทบจะทั้งประเทศ บริษัทไฟแนนซ์หายไปหลายสิบแห่ง โดยที่หลายบริษัทเป็นบริษัทระดับท็อปของประเทศ ธนาคารที่เชื่อกันว่ามั่นคง ไม่ล้มกันง่ายๆ ก็โดนยุบไปรวมกับธนาคารอื่น และมีอีกหลายแห่งที่ไม่ถูกยุบแต่เจ้าสัวนายแบงค์ต้องยอมให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นมากขึ้นเพื่อเอาตัวให้รอด
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังๆ ตอนนั้นแทบจะเจ๊งเรียบ โครงการก่อสร้างที่แย่งกันขึ้น แข่งกันสร้าง กลายเป็นโครงการร้าง สร้างต่อไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน แต่ถึงบริษัทมีเงินสร้างก็ไม่มีคนซื้อ เพราะตกงานกันเพียบ มันแย่ถึงขนาดที่คนระดับ ชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสแบงค์กรุงเทพ ออกมาบอกนักข่าวว่า เจ้าสัววันนี้ไม่มีแล้ว มีแต่เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์
ขนาดนายแบงค์ยังเป็นอย่างนี้ แล้วคนธรรมดาจะไปเหลืออะไร
แต่วิกฤติต้มยำกุ้งก็ยังมีข้อดีอยู่นะครับ เอาข้อที่ฝังใจผมและส่งผลต่อการทำงานของผมมากที่สุดก็คือ วิกฤตินี้ทำให้รู้ได้ว่า ความมั่นคงในอาชีพการงานมันไม่มีอีกต่อไปแล้ว
ทำไมผมถึงคิดอย่างนี้
ก่อนหน้าวิกฤติต้มยำกุ้งเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องมาร่วมสิบปี คนที่เรียนจบออกมาทำงานไม่กี่ปีก็มีบัตรเครดิต ซื้อบ้าน ซื้อรถ กันได้ง่ายๆ แบงค์เองก็ปล่อยกู้สบายๆ เพราะรู้ว่าลูกหนี้มีกำลังผ่อนได้อยู่แล้ว
พอเกิดวิกฤติปั๊บ เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงกลางกบาล เอากรณีผมแล้วกัน บริษัทเอาคนออกไปเกือบครึ่งนึง งานก็เลยเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า เงินเดือนถูกลดไป ๓๐% แถมบางเดือนออกช้าอีกต่างหาก แต่มีงานทำก็ยังดีกว่าไม่มี เพราะเวลานั้นคนตกงานกันเป็นแสน ไม่มีใครมองหางานใหม่ ก็ไม่มีที่ไหนรับคนเพิ่ม มีแต่เล็งจะเลิกจ้าง แค่รักษางานเอาไว้ได้นี่ก็มหัศจรรย์แล้ว
สถานการณ์อย่างนี้จะไปหาความมั่นคงในอาชีพจากที่ไหน ถึงเวลาจะผ่านมาแล้วก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอย่างนี้อีกมั้ย
แต่ข้อดีอยู่ตรงนี้ครับ พอรับรู้ได้ว่า เราไม่สามารถมองหาความมั่นคงในอาชีพได้แล้ว มันก็เลยเกิดแรงผลักดันมาจากข้างในให้ต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุด ก่อนหน้านี้เคยทำได้อยู่อย่างเดียว ก็เริ่มหัดทำอย่างอื่นด้วย ไอ้ของที่ทำอยู่ก็หาวิธีทำให้ดีขึ้นไปอีก อะไรที่ขาดก็หามาเติม ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อที่ว่า ถ้าปุบปับเกิดอะไรขึ้นมา เราก็จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในตลาดแรงงาน (ผมมีความสุขดีกับการเป็นลูกจ้างครับ)
พอทำอย่างนี้ไปได้สักพัก กลายเป็นว่ามันช่วยเปิดโอกาสให้กับชีวิต ผมมีโอกาสได้ทำงานดีๆ งานที่ทำแล้วมีความสุขต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้
ต้องขอบคุณวิกฤติต้มยำกุ้งนะครับ