ไม่เข้าใจ SCB

วันนี้มีเรื่องที่ไม่เข้าใจ แล้วก็หาคนอธิบายให้เข้าใจไม่ได้ด้วย เลยมาลองเล่าตรงนี้ละกัน เผื่อมีคนอธิบายให้เข้าใจได้

เช้านี้เข้าแอป SCB Easy เพื่อจะไปเปลี่ยนวงเงินการทำรายการในบัญชี ด้วยความตั้งใจที่จะลดความเสี่ยง หากเกิดความผิดพลาดไม่ว่าจะโดยระบบของแบงก์หรือ user error ผู้ใช้เอ๋อ ๆ (ซึ่งก็คือพี่นี่แหละ)

พอทำการลดวงเงินที่จะโอนออกจากบัญชีเรียบร้อย (ระบบแม่งตั้งไว้สิบล้าน บ้านมึงเถอะ ถ้ากุมีขนาดนั้นกุไปนอนเล่นไข่หมาอยู่บ้านแล้วมั้ย) พบว่ามีสามรายการที่ทำผ่านแอปไม่ได้ คือ การชำระบิล การเติมเงิน และวงเงินบัตรเติมเงิน ก็เลยโทรเข้า call center ด้วยความมั่นใจว่า ทาง call center ต้องทำให้ได้

หลังจากเล่าความต้องการให้น้อง call center ฟังแล้ว น้องพักสายไปครู่นึง เข้าใจว่าไปถามคนอื่น แล้วกลับมาบอก ซึ่งเป็นความประหลาดใจข้อแรกคือ call center ทำให้ไม่ได้ว่ะ

เอาน่า ไม่เป็นไร อาจจะเป็นระบบความปลอดภัยของแบงก์ อยากให้ผู้ใช้ไปยืนยันตัวตนงี้ งั้นพี่ไปทำที่สาขาธนาคารก็ได้ ก็มาเป็นความประหลาดใจข้อสอง คือ ที่สาขาก็ทำไม่ได้เว้ยยยยยย!!

น้อง call center บอกว่า สามรายการนี้ถูกตั้งค่ามาจากระบบ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องแจ้งไปที่ฝ่าย IT อย่างเดียว

เดี๋ยวนะ มึงตั้งค่าในระบบให้ทำรายการชำระบิลได้สองล้านบาท เติมเงินได้ห้าแสนบาท แล้วก็มีวงเงินบัตรเติมเงิน (ซึ่งคืออะไรก็ไม่รู้) อีกห้าแสนบาท แต่ไม่ให้เจ้าของบัญชีเปลี่ยนวงเงินได้เนี่ยนะ

แล้วถ้าเกิดปัญหาโดนแฮกจะด้วยจากทางแบงก์เองหรือจากทางผู้ใช้ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีแต่ประสงค์ทรัพย์มาทำการจ่ายบิลหรือเติมเงินอะไร ทำให้เงินไหลออกจากบัญชีไปได้ จะต้องทำยังไงฟระ

น้อง call center ก็ดีมาก บอกว่า เดี๋ยวจะแจ้งความต้องการของลูกค้าไปที่ฝ่ายไอที เมื่อได้คำตอบแล้วจะติดต่อกลับ

ถามไปว่าใช้เวลานานแค่ไหน น้องบอกปกติจะภายใน ๒๔ ชั่วโมง โอเค ได้เลย พี่จะรอ

ไม่เกินครึ่งชั่วโมงน้องโทรมา อันนี้ดี พี่ต้องชม แต่ข้อความที่น้องบอกทำให้ประหลาดใจครั้งที่สาม ฝ่ายไอทีบอกว่าเปลี่ยนวงเงินให้ไม่ได้ เพราะเป็นการตั้งค่าทั้งระบบ หมายความว่าถ้าเปลี่ยนให้พี่คนเดียว จะส่งผลกับลูกค้า SCB ทั้งหมด

เยสเข้!!!!!!!

กุว่าไม่ปกติล่ะ

น้องยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่าทำให้ไม่ได้จริง ๆ ฝ่ายไอทีแจ้งมาแบบนั้น เราก็เข้าใจคนหน้างานก็ไม่ได้ว่าอะไรน้อง แต่ขอฝากคอมเมนต์เข้าระบบไปหน่อย เผื่อว่าจะผ่านตาใครที่มีอำนาจตัดสินใจได้อ่านแล้วจะแก้ไขหรือมีคำตอบที่ช่วยให้พี่เข้าใจได้นะ

แล้วก็มาโพสต์ที่นี่อีกทางเผื่อจะได้คำตอบนะฮะ… เลิฟ เลิฟ

SCB Easy app
สามรายการที่ว่าครับ

การเปลี่ยนแปลงที่ธนาคารไทยพาณิชย์ & amazon go

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าเทรนด์ใหญ่ที่กำหนดรูปแบบชีวิตเราในช่วงหลายสิบปีมานี้มีอยู่สองเรื่อง

เรื่องแรกคือ Moore’s law ที่อยู่มาตั้งแต่ปี ๑๙๖๕ และเป็นพื้นฐานสำคัญของความก้าวหน้าทางด้านไอทีในช่วงที่ผ่านมา

เรื่องที่สองที่ต่อยอดจากเรื่องแรกอีกทีคือ software is eating the world ที่พี่ marc andreessen (ไม่ใช่พี่ mark zuck นะฮะ) อดีตผู้ก่อตั้ง Netscape เขียนลง the wall street journal เมื่อปี ๒๐๑๑

รายละเอียดของสองเรื่องนี้ถ้าใครสนใจลองกูเกิลดูได้ครับ

และเมื่อวานได้อ่านสองข่าวที่เกิดขึ้นในคนละประเทศ คนละอุตสาหกรรมแต่เหมือนจะเรื่องเดียวกันและเป็นผลมาจากสองเทรนด์ใหญ่ที่ว่ามา

ข่าวแรก ซีอีโอธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศแผนระยะ ๓ ปี แผนนี้มีรายละเอียดหลายด้าน แต่ที่ชัดเจนและจับต้องได้คือ จะลดจำนวนสาขาจาก ๑,๑๕๓ สาขาเหลือ ๔๐๐ สาขา และลดจำนวนพนักงานจาก ๒๗,๐๐๐ คนเหลือ ๑๕,๐๐๐ คน

สาเหตุหลักสรุปง่าย ๆ ก็คือ สภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจธนาคารมันเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมของลูกค้า การจะมาเป็น tiger sleep eat นอนกินค่าธรรมเนียม กับชาร์จดอกเบี้ย เหมือนอย่างที่เคยทำมาเป็นสิบปีนั่นมันจบแล้วครับนาย (ซีอีโอไม่ได้พูดแบบนี้ แต่พี่บริการแปลไทยเป็นไทยให้)

วันนี้คนส่วนใหญ่รู้กันอยู่แล้วว่า ธุรกิจธนาคารกำลังจะถูกบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะการมาของ fintech หลายแบงก์หรือแทบทุกแบงก์ตอนนี้ก็ไปลงทุนด้านนี้กันไว้แล้ว แต่ก็คงนึกไม่ถึงว่ามันจะซัดมาเป็นสึนามิขนาดนี้

ที่สำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงแบบนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทยพาณิชย์ที่เดียว แต่ต้องเกิดกับทุกแบงก์นั่นแหละ ไม่งั้นก็ไม่รอด วันนี้ไทยพาณิชย์นำร่องประกาศออกมาแล้ว ที่เหลือก็แค่รอดูว่าแบงก์อื่นจะตามมาเมื่อไหร่

ข่าวที่สองเป็นข่าวของ The New York Times เรื่องร้านซูเปอร์มาร์เก็ตต้นแบบของ amazon ที่ซีแอตเทิลที่กำลังจะเปิดให้บริการจริงในวันนี้ (วันจันทร์ของสหรัฐฯ)

ความน่าสนใจของร้านนี้คือ ไม่มีแคชเชียร์คิดเงิน ลูกค้าหยิบของเสร็จเดินออกจากร้านได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลารอคิวจ่ายเงินให้ชักช้าน่ารำคาญใจ

ฟังดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ แต่สิ่งที่ amazon ทำก็คือ เมื่อลูกค้าจะเดินเข้ามาในร้าน ต้องเปิดแอป amazon go ในสมาร์ตโฟน (ถ้าไม่มีก็ใช้บริการร้านนี้ไม่ได้) หยิบสินค้าที่ต้องการใส่ถุง แล้วกล้องที่ amazon ติดตั้งเอาไว้ในร้านนับร้อยตัวจะทำการบันทึกสินค้าที่เราหยิบเข้าไปไว้ในแอปของเราให้เองโดยอัตโนมัติ ถ้าเราเปลี่ยนใจหยิบของออกมาวางคืน ระบบก็จะถอดสินค้าตัวนั้นออกจากแอปเราได้เองเหมือนกัน

พอลูกค้าซื้อของจนพอใจก็เดินออกจากร้านได้เลย ระบบจะตัดเงินจากบัตรเครดิตอัตโนมัติ แล้วอย่าคิดว่าจะแอบหยิบออกมาได้โดยระบบตรวจไม่เจอ นักข่าว new york times เขาลองแล้ว ไม่รอดจ้า

amazon ทำแบบนี้ได้โดยไม่ต้องติดชิปที่สินค้านะฮะ ซึ่งนั่นหมายความว่า ระบบ face recognition และระบบหลังบ้านต้องพร้อมมาก ๆ

ผลที่จะตามมาจากร้านค้ารูปแบบนี้ก็คือ ลูกค้าไม่ต้องรอคิวจ่ายเงิน นี่เป็น pain point ข้อใหญ่ของคนซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตเลย ที่ตามมาคือ ใช้พนักงานน้อยลง อย่างน้อยก็พนักงานคิดเงินล่ะ

แล้วถ้าระบบนี้เวิร์ก เกิดลามไปห้างอื่นร้านค้าอื่นด้วยนะ

software is eating the world ครับ…