ประสบการณ์มนุษย์เงินเดือนฝ่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

เผื่อจะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า แต่หวังว่าจะไม่มีใครต้องเจอนะฮะ

๑. ตั้งสติให้มั่น เตือนใจตัวเองไว้ว่า นี่เป็นช่วงเวลาไม่ปกติ มันจะ (โคตร) เหนื่อยกายเหนื่อยใจ แต่สุดท้ายมันจะผ่านไป อย่าท้อ เสียอะไรเสียไป ใจอย่าเสีย

๒. ทำรายการรายรับ-รายจ่ายให้พร้อม ยึดหลักการ ลด – ละ – เลิก อย่างน้อยซักสาม scenario

– ถูกตัดเงินเดือน ๑๐% จะลดอะไร จะเลิกอะไร

– ถูกตัดเงินเดือน ๓๐% รายการไหนที่จะโดน ฝืนใจแค่ไหนก็ต้องตัด

– ถูกเลิกจ้าง ลืมไลฟ์สไตล์เดิม ๆ ไปได้เลย นี่แม่งต้องเข้าโหมด survive แล้ว ต้องอยู่ให้ได้ด้วยค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพื่อประคองตัวไปให้นานที่สุด ก่อนจะได้งานใหม่

รายการ ลด – ละ – เลิก พวกนี้ของใครของมันนะครับ อยู่ที่ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน อันนี้ต้องประเมินตัวเอง ถามว่า ทำไมต้องคิดตั้งแต่ตอนนี้? ก็เพราะตอนนี้ยังมีสติและยังมีเวลาให้เตรียมการล่วงหน้าได้ ถ้าไปคิดตอนนั้นอาจจะกำลังเมาหมัดอยู่ คงไม่ค่อยดีนัก

๓. ในยามวิกฤติคนที่มีสภาพคล่อง (หรือเงินสด) จะได้เปรียบและยืนระยะได้นานกว่า (ซึ่งจะนำไปสู่ข้อถัดไป)

๔. แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ของสะสมส่วนตัวหรือสมบัติบ้าห้าร้อยจำพวก กระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า นาฬิกา อะไรที่คิดว่าไม่จำเป็น ตอนนั้นลืมตัวกดสั่งซื้อหรือรูดบัตรมา แต่ไม่ได้ใช้ ใช้ไม่คุ้ม ไม่ต้องมีก็ได้ เอามาขายแปลงเป็นเงินสดซะ อย่าเสียดาย เพราะถ้าวิกฤติมาจริงถึงตอนนั้นทุกคนจะระดมเอาออกมาขาย ราคาจะตกฮวบ กลายเป็นโอกาสช้อนซื้อของคนที่มีสภาพคล่อง (และไม่เดือดร้อน)

๕. หา value ตัวเองให้เจอแล้วแปลงเป็นรายได้ ลองหาดูว่าตัวเองมี skill อะไรที่พอจะเอามาสร้างรายได้ได้บ้าง พยายามขุดให้เจอ ทำกับข้าว ทำขนม ถ่ายรูป วาดรูป อะไรซักอย่างที่วันข้างหน้าอาจช่วยชีวิตเราได้

๖. สมัครบัตรเครดิตเก็บไว้ แต่อย่าเพิ่งใช้นะ เอาไว้ยามจำเป็นจริง ๆ จะช่วยเรื่องสภาพคล่องของเราได้ ส่วนตัวตอนต้มยำกุ้งนี่ได้บัตรกสิกรไทย ช่วยหมุนเงินรูดเติมน้ำมัน ซื้อของซูเปอร์ฯ ได้

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน ด้วยรักจากใจหนุ่มใหญ่วัยเกรียนย่านบางบัวทองฮะ…

บทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้ง : สละอวัยวะรักษาชีวิต

โดยส่วนตัวแล้วผมชอบวิกฤติต้มยำกุ้งนะ ถึงจะทำให้ชีวิตช่วงนั้นลำบากแสนสาหัส แต่ก็ได้ข้อคิดได้บทเรียนสอนใจอะไรหลายอย่างที่ติดตัวมาจนถึงวันนี้ เข้าตำราที่ฝรั่งว่าไว้ don’t waste a crisis

ก่อนหน้านี้เคยเขียนบล็อกพูดถึงข้อดีของวิกฤติต้มยำกุ้งไว้บ้างแล้ว วันนี้ขอเล่าเรื่องอื่นบ้างแล้วกัน

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท (ซึ่งในทางปฏิบัติคือ การลดค่าเงินนั่นแหละ แต่เรียกให้สวย ๆ เหมือน ประชารัฐ ไม่ใช่ ประชานิยม อ่ะนะ) นับเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติต้มยำกุ้งอย่างเป็นทางการ

ผลที่ตามมาก็คือ ธุรกิจไทยหลายร้อยหลายพันแห่งที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามา (เพราะดอกเบี้ยถูก ตอนนั้นดอกเบี้ยแบงก์ไทยแพง ก็กู้นอกสิเธอ ใครไม่กู้นี่มีโดนหยามว่าโง่ เอ๊ย ฉลาดน้อยนะฮะ) อ้วกแตกทันที เพราะค่าเงินบาทจากที่แข็งโป๊ก ๒๕ บาทต่อดอลลาร์ กลับเหลวเป๋วเป็นขี้เด็ก ไหลไปทำสถิติที่ ๕๕ บาทต่อดอลลาร์กันเลย เรียกง่าย ๆ ว่า หนี้ที่มีอยู่เพิ่มพรวดเป็นสองเท่าโดยที่ไม่ต้องทำอะไร รัฐจัดให้สวย ๆ

ทุกบริษัทไม่ว่ารายเล็กรายใหญ่ต่างต้องวิ่งกันขาขวิดเพื่อหาทางเอาตัวรอดสุดชีวิต มีบริษัทในตลาดหุ้นจำนวนไม่น้อยที่ไม่รอดต้องเลิกกิจการไป ทั้งที่เมื่อตอนก่อนวิกฤติยังเป็นพยัคฆ์คำรามในแวดวงธุรกิจบ้านเรากันอยู่เลย

การหาทางรอดของแต่ละคนแต่ละรายก็แตกต่างกันไป มีทั้งขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของตัวเองให้คนอื่นไป หาเงินทุนใหม่เข้ามา เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ โฮ้ยยยย สารพัด

อย่างซีพียักษ์ใหญ่บิ๊กบึ้มยังต้องยอมตัดใจขายโลตัสให้ Tesco ไป พี่ยังจำที่คุณก่อศักดิ์ ณ เซเว่น ให้สัมภาษณ์ตอนนั้นได้เลยว่า รู้ทั้งรู้ว่าธุรกิจนี้ดีแน่ ๆ กำไรแน่ ๆ แต่ในเวลานั้นต้องใช้เงินลงทุนอีกนับพันล้านหมื่นล้าน ในขณะที่ธุรกิจอื่นของเครือก็กำลังแย่ การตัดสินใจขายตอนนั้นนอกจากจะปลดเปลื้องภาระที่ต้องหาเงินมาลงทุนเป็นพันล้านหมื่นล้านอย่างที่ว่าแล้ว ยังทำให้ได้เงินกลับมาช่วยธุรกิจอื่นได้เป็นพันล้านหมื่นล้านด้วย อันนี้ต้องยอมกลืนเลือด ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น (ประโยคหลังนี่พี่ว่าเองนะฮะ)

หรือดีแทคของค่ายยูคอมที่เคยเป็นหนึ่งในจตุรยักษ์วงการเทเลคอมเมืองไทยก็ตุปัดตุเป๋หาทางไปไม่เป็นเหมือนกัน ตอนนั้นมีทั้งหนี้สถาบันการเงินที่ไปกู้เขามา แล้วก็ยังมีหนี้การค้าที่ไปซื้ออุปกรณ์ระบบเครือข่ายมาอีก ทำท่าจะไปไม่รอดจนสุดท้ายตระกูลเบญจรงคกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ นำโดยคุณบุญชัย สามีตั๊ก บงกช ต้องยอมตัดใจดึงเทเลนอร์มาถือหุ้นใหญ่ ก็รอดมาได้

บรรดาเจ้าสัวธนาคารตอนนั้นก็ต้องวิ่งเจรจาหาเงินเข้ามาเพิ่มทุนกันเหนื่อย ต้องยอมลดสัดส่วนหุ้นตัวเองหรือครอบครัวตัวเองลง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้

ที่เล่าเรื่องไร้สาระมายืดยาวนี่เพื่อจะบอกว่า เมื่อถึงคราวคับขันมันก็ต้องยอมสละอวัยวะรักษาชีวิตกันไว้ก่อน หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ

การเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในธุรกิจที่เติบโต ย่อมดีกว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจที่ตกต่ำนะฮะ…

ข้อดีของวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนที่ ๒

ครั้งที่แล้วผมเล่าถึงข้อดีของวิกฤติต้ายำกุ้งข้อแรกไปแล้ว เป็นเรื่องของการงาน ครั้งนี้ข้อสองเป็นเรื่องของการเงิน ซึ่งก็ต่อเนื่องมาจากข้อแรก

นั่นคือ วิกฤติต้มยำกุ้งทำให้ได้ซาบซึ้งกับวลีที่ว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ และนอกจากไม่มีหนี้แล้วยังต้อง มีเงินเก็บ ด้วยนะครับ

บทเรียนข้อนี้แลกมาด้วยหยาดเหงื่อชนิดที่ผ่านมาแล้วสิบกว่าปียังจำได้ไม่ลืม

อย่างที่ได้เล่าไปว่า ช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งบริษัทที่ผมทำงานอยู่ลดเงินเดือนลง ๓๐% แถมบางเดือนก็จ่ายล่าช้าไม่ตรงตามกำหนด แต่ตอนนั้นผมผ่อนทั้งบ้านทั้งรถตามประสาคนกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งธนาคารกับไฟแนนซ์ที่เป็นเจ้าหนี้ไม่รับรู้ด้วย เขารู้แค่ว่าถึงกำหนดต้องจ่ายมาตามจำนวน ดอกเบี้ยเงินกู้บ้านขึ้นไปที่ ๑๖% ถ้าจ่ายช้าดอกก็เพิ่ม ชีวิตตอนนั้นต้องปากกัดตีนถีบเอาเรื่องอยู่นะครับ

ทำงานประจำจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์อาทิตย์ขนของขึ้นรถไปเปิดท้ายขายของ ตระเวนไปแต่ละอาทิตย์ ตั้งแต่บิ๊กซี ราชดำริ หมู่บ้านเมืองเอก ฟิวเจอร์ปาร์ค บางแค ถนอมมิตร พาร์ค ที่วัชรพล ฯลฯ แรกๆ ก็เอาข้าวของในบ้านไปขาย พวกเทปคาสเซ็ทต์ที่สะสมเอาไว้ สมุดบันทึกที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ ข้าวของที่ระลึก สิ่งละอันพันละน้อย จนเริ่มเหลือน้อยก็ไปหาของมาขาย ตอนนั้นคนกำลังเริ่มฮิตต่อจิ๊กซอว์ ก็ไปรับจากสำเพ็งมาขาย อีกสักพักคนเริ่มขายกันเยอะ ก็ไปเอาถุงน่องจากโบ๊เบ๊มาขายเพิ่มเข้าไป มีน้องที่รู้จักทำเสื้อยืดขายอยู่โบ๊เบ๊ก็ไปรับมาขาย น้องคนนี้ก็ดีมากให้เอาเสื้อมาก่อนขายได้ค่อยเอาเงินไปให้ (ขอบคุณมากนะดุ๊ย) พอขายของเสร็จกลับบ้านค่ำมืดก็มานั่งทำงานบ้านต่อ เช้าวันจันทร์ก็ไปทำงาน

ชีวิตวนเวียนอย่างนี้อยู่พักใหญ่

จนวันนึงคิดว่า ไม่ไหวแล้ว ก็พอดีได้งานใหม่ เงินเดือนมากขึ้น จ่ายเงินเดือนตรงเวลา ก็เริ่มหายใจหายคอได้บ้าง จากนั้นก็เร่งโปะหนี้ ไล่ไปทีละอย่าง ทยอยโปะบัตรเครดิตจนหมด ตามด้วยโปะบ้าน ใช้เวลาหลายปีจนในที่สุดก็เป็นไท

หนี้ก็เหมือนไขมัน ถ้ามีมากก็ทำให้เราอุ้ยอ้าย จะขยับเนื้อขยับตัวก็ไม่สะดวก

วันที่หมดหนี้เป็นวันที่มีความสุขมากที่สุดวันนึงนะครับ

หลังจากนั้นผมเก็บเงินเป็นเรื่องเป็นราว พยายามเป็นหนี้ให้น้อยที่สุด เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า เมื่อไหร่ที่วิกฤติจะกลับมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงว่าระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้มันโยงใยผูกพันกันไปหมด บางทีวิกฤติรอบหน้าอาจจะไม่ได้เกิดจากตัวเราเองแต่เราโดนลูกหลงของคนอื่นก็อาจเป็นได้

ถ้าวันนั้นมาถึง คนที่ตัวเบาที่สุดจะเหนื่อยน้อยที่สุด

Cash is King ครับ

ข้อดีของวิกฤติต้มยำกุ้ง

พรุ่งนี้ก็ ๒ กรกฎาคมแล้วนะครับ ถือเป็นวันที่มีความสำคัญระดับจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์โลกได้เหมือนกันว่า วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ เป็นวันที่รัฐบาลไทยประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว (ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินบาทไหลจากระดับ ๒๕ บาทต่อดอลลาร์ไปทำสถิติเอาไว้ที่ ๕๕ บาทต่อดอลลาร์) และถือเป็นจุดเริ่มอย่างเป็นทางการของวิกฤติการเงินครั้งสำคัญของไทยที่ชาวต่างชาติพร้อมใจขนานนามให้ว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง

ต่อมาก็ลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ แถบนี้จนกลายเป็นวิกฤติการเงินเอเชีย หลังจากนั้นก็ขยายวงออกไปภูมิภาคอื่น จนปะทุเป็นวิกฤติประเทศเศรษฐกิจใหม่ในที่สุดและทุกครั้งที่มีใครหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก็จะต้องพาดพิงถึงประเทศไทยในฐานะตัวต้นเหตุให้เราได้ภาคภูมิใจกันทุกครั้งไป (มั้ย?)

ผลกระทบของวิกฤติต้มยำกุ้งนี่ถ้าเล่าให้คนที่โตไม่ทันได้ฟังอาจจะนึกว่าโม้ เพราะมันเจ๊งกันแทบจะทั้งประเทศ บริษัทไฟแนนซ์หายไปหลายสิบแห่ง โดยที่หลายบริษัทเป็นบริษัทระดับท็อปของประเทศ ธนาคารที่เชื่อกันว่ามั่นคง ไม่ล้มกันง่ายๆ ก็โดนยุบไปรวมกับธนาคารอื่น และมีอีกหลายแห่งที่ไม่ถูกยุบแต่เจ้าสัวนายแบงค์ต้องยอมให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นมากขึ้นเพื่อเอาตัวให้รอด

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังๆ ตอนนั้นแทบจะเจ๊งเรียบ โครงการก่อสร้างที่แย่งกันขึ้น แข่งกันสร้าง กลายเป็นโครงการร้าง สร้างต่อไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน แต่ถึงบริษัทมีเงินสร้างก็ไม่มีคนซื้อ เพราะตกงานกันเพียบ มันแย่ถึงขนาดที่คนระดับ ชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสแบงค์กรุงเทพ ออกมาบอกนักข่าวว่า เจ้าสัววันนี้ไม่มีแล้ว มีแต่เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์

ขนาดนายแบงค์ยังเป็นอย่างนี้ แล้วคนธรรมดาจะไปเหลืออะไร

แต่วิกฤติต้มยำกุ้งก็ยังมีข้อดีอยู่นะครับ เอาข้อที่ฝังใจผมและส่งผลต่อการทำงานของผมมากที่สุดก็คือ วิกฤตินี้ทำให้รู้ได้ว่า ความมั่นคงในอาชีพการงานมันไม่มีอีกต่อไปแล้ว

ทำไมผมถึงคิดอย่างนี้

ก่อนหน้าวิกฤติต้มยำกุ้งเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องมาร่วมสิบปี คนที่เรียนจบออกมาทำงานไม่กี่ปีก็มีบัตรเครดิต ซื้อบ้าน ซื้อรถ กันได้ง่ายๆ แบงค์เองก็ปล่อยกู้สบายๆ เพราะรู้ว่าลูกหนี้มีกำลังผ่อนได้อยู่แล้ว

พอเกิดวิกฤติปั๊บ เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงกลางกบาล เอากรณีผมแล้วกัน บริษัทเอาคนออกไปเกือบครึ่งนึง งานก็เลยเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า เงินเดือนถูกลดไป ๓๐% แถมบางเดือนออกช้าอีกต่างหาก แต่มีงานทำก็ยังดีกว่าไม่มี เพราะเวลานั้นคนตกงานกันเป็นแสน ไม่มีใครมองหางานใหม่ ก็ไม่มีที่ไหนรับคนเพิ่ม มีแต่เล็งจะเลิกจ้าง แค่รักษางานเอาไว้ได้นี่ก็มหัศจรรย์แล้ว

สถานการณ์อย่างนี้จะไปหาความมั่นคงในอาชีพจากที่ไหน ถึงเวลาจะผ่านมาแล้วก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอย่างนี้อีกมั้ย

แต่ข้อดีอยู่ตรงนี้ครับ พอรับรู้ได้ว่า เราไม่สามารถมองหาความมั่นคงในอาชีพได้แล้ว มันก็เลยเกิดแรงผลักดันมาจากข้างในให้ต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุด ก่อนหน้านี้เคยทำได้อยู่อย่างเดียว ก็เริ่มหัดทำอย่างอื่นด้วย ไอ้ของที่ทำอยู่ก็หาวิธีทำให้ดีขึ้นไปอีก อะไรที่ขาดก็หามาเติม ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อที่ว่า ถ้าปุบปับเกิดอะไรขึ้นมา เราก็จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในตลาดแรงงาน (ผมมีความสุขดีกับการเป็นลูกจ้างครับ)

พอทำอย่างนี้ไปได้สักพัก กลายเป็นว่ามันช่วยเปิดโอกาสให้กับชีวิต ผมมีโอกาสได้ทำงานดีๆ งานที่ทำแล้วมีความสุขต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้

ต้องขอบคุณวิกฤติต้มยำกุ้งนะครับ