บทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้ง : สละอวัยวะรักษาชีวิต

โดยส่วนตัวแล้วผมชอบวิกฤติต้มยำกุ้งนะ ถึงจะทำให้ชีวิตช่วงนั้นลำบากแสนสาหัส แต่ก็ได้ข้อคิดได้บทเรียนสอนใจอะไรหลายอย่างที่ติดตัวมาจนถึงวันนี้ เข้าตำราที่ฝรั่งว่าไว้ don’t waste a crisis

ก่อนหน้านี้เคยเขียนบล็อกพูดถึงข้อดีของวิกฤติต้มยำกุ้งไว้บ้างแล้ว วันนี้ขอเล่าเรื่องอื่นบ้างแล้วกัน

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท (ซึ่งในทางปฏิบัติคือ การลดค่าเงินนั่นแหละ แต่เรียกให้สวย ๆ เหมือน ประชารัฐ ไม่ใช่ ประชานิยม อ่ะนะ) นับเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติต้มยำกุ้งอย่างเป็นทางการ

ผลที่ตามมาก็คือ ธุรกิจไทยหลายร้อยหลายพันแห่งที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามา (เพราะดอกเบี้ยถูก ตอนนั้นดอกเบี้ยแบงก์ไทยแพง ก็กู้นอกสิเธอ ใครไม่กู้นี่มีโดนหยามว่าโง่ เอ๊ย ฉลาดน้อยนะฮะ) อ้วกแตกทันที เพราะค่าเงินบาทจากที่แข็งโป๊ก ๒๕ บาทต่อดอลลาร์ กลับเหลวเป๋วเป็นขี้เด็ก ไหลไปทำสถิติที่ ๕๕ บาทต่อดอลลาร์กันเลย เรียกง่าย ๆ ว่า หนี้ที่มีอยู่เพิ่มพรวดเป็นสองเท่าโดยที่ไม่ต้องทำอะไร รัฐจัดให้สวย ๆ

ทุกบริษัทไม่ว่ารายเล็กรายใหญ่ต่างต้องวิ่งกันขาขวิดเพื่อหาทางเอาตัวรอดสุดชีวิต มีบริษัทในตลาดหุ้นจำนวนไม่น้อยที่ไม่รอดต้องเลิกกิจการไป ทั้งที่เมื่อตอนก่อนวิกฤติยังเป็นพยัคฆ์คำรามในแวดวงธุรกิจบ้านเรากันอยู่เลย

การหาทางรอดของแต่ละคนแต่ละรายก็แตกต่างกันไป มีทั้งขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของตัวเองให้คนอื่นไป หาเงินทุนใหม่เข้ามา เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ โฮ้ยยยย สารพัด

อย่างซีพียักษ์ใหญ่บิ๊กบึ้มยังต้องยอมตัดใจขายโลตัสให้ Tesco ไป พี่ยังจำที่คุณก่อศักดิ์ ณ เซเว่น ให้สัมภาษณ์ตอนนั้นได้เลยว่า รู้ทั้งรู้ว่าธุรกิจนี้ดีแน่ ๆ กำไรแน่ ๆ แต่ในเวลานั้นต้องใช้เงินลงทุนอีกนับพันล้านหมื่นล้าน ในขณะที่ธุรกิจอื่นของเครือก็กำลังแย่ การตัดสินใจขายตอนนั้นนอกจากจะปลดเปลื้องภาระที่ต้องหาเงินมาลงทุนเป็นพันล้านหมื่นล้านอย่างที่ว่าแล้ว ยังทำให้ได้เงินกลับมาช่วยธุรกิจอื่นได้เป็นพันล้านหมื่นล้านด้วย อันนี้ต้องยอมกลืนเลือด ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น (ประโยคหลังนี่พี่ว่าเองนะฮะ)

หรือดีแทคของค่ายยูคอมที่เคยเป็นหนึ่งในจตุรยักษ์วงการเทเลคอมเมืองไทยก็ตุปัดตุเป๋หาทางไปไม่เป็นเหมือนกัน ตอนนั้นมีทั้งหนี้สถาบันการเงินที่ไปกู้เขามา แล้วก็ยังมีหนี้การค้าที่ไปซื้ออุปกรณ์ระบบเครือข่ายมาอีก ทำท่าจะไปไม่รอดจนสุดท้ายตระกูลเบญจรงคกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ นำโดยคุณบุญชัย สามีตั๊ก บงกช ต้องยอมตัดใจดึงเทเลนอร์มาถือหุ้นใหญ่ ก็รอดมาได้

บรรดาเจ้าสัวธนาคารตอนนั้นก็ต้องวิ่งเจรจาหาเงินเข้ามาเพิ่มทุนกันเหนื่อย ต้องยอมลดสัดส่วนหุ้นตัวเองหรือครอบครัวตัวเองลง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้

ที่เล่าเรื่องไร้สาระมายืดยาวนี่เพื่อจะบอกว่า เมื่อถึงคราวคับขันมันก็ต้องยอมสละอวัยวะรักษาชีวิตกันไว้ก่อน หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ

การเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในธุรกิจที่เติบโต ย่อมดีกว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจที่ตกต่ำนะฮะ…

นิตยสาร Corporate Thailand ซีพีกินรวบประเทศไทย

นิตยสาร Corporate Thailand ฉบับปฐมฤกษ์ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙
นิตยสาร Corporate Thailand ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ออกวางจำหน่าย คือเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙ นี่ก็เกือบ ๒๐ ปีแล้ว ต้องบอกว่า ตอนที่ออกมานี่เรียกเสียงฮือฮาได้มากเลยทีเดียว เพราะนอกจากเรื่องจากปกแล้ว นิตยสารฉบับนี้ยังเต็มไปด้วยคอลัมนิสต์ด้านนโยบายและเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่าชั้นแนวหน้าที่สุดของประเทศไทยในเวลานั้น

บอกไว้ก่อนว่าแต่ละคนนี่ประวัติการทำงานล้นเหลือมาก ใครอยากรู้ไปเปิดวิกิพีเดียดูเอาเองนะฮะ ไม่ว่าจะเป็น ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ และดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เห็นชื่อแต่ละคนแล้วต้องบอกว่า ขนาดผ่านมาเกือบ ๒๐ ปียังน่าสนใจ แล้วในเวลานั้นจะขนาดไหน

ในส่วนของเรื่องจากปก ซึ่งได้ไล่เรียงและอธิบายถึงแนวคิดการทำธุรกิจของซีพี รวมถึงการขยายตัวออกไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ นอกเหนือจากธุรกิจเกษตรที่เป็นรากฐานเดิม ไม่ว่าจะเป็นสื่อสาร ค้าปลีก ค้าส่ง และปิโตรเคมี

แต่ธุรกิจของซีพีในวันนั้นกับปัจจุบันอาจต่างกันไปบ้าง เนื่องจากวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๔๐ ทำให้ซีพีต้องปรับตัว โดยจำใจตัดขายบางธุรกิจออกไปก่อนแม้รู้ว่าวันข้างหน้าธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จแน่นอน เช่น โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่กองบรรณาธิการนำมาลงไว้ก็คือ บรรดาสายสัมพันธ์ทั้งหลายของซีพี ที่มีต่อคนในภาครัฐและการเมือง ทั้งที่มีสีและไม่มีสี ความสัมพันธ์นี้น่าจะช่วยอธิบายอะไรได้หลายอย่าง

อ่านชุดเรื่องจากปกแล้วก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไมทีมงานถึงใช้คำโปรยปกว่า ซีพีกินรวบประเทศไทย

นอกจากเรื่องจากปกและคอลัมนิสต์ที่ว่ามาแล้ว ในเล่มนี้ยังมีสัมภาษณ์พิเศษอีกสองคน คือ ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ ผู้เป็นพี่ชายแท้ ๆ ของดร.สมคิด โดย ณ ขณะนั้นดร.สม เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย (ปัจจุบันถูกธนาคารธนชาตซื้อไปแล้ว) และหลังจากนั้นอีกเพียงปีเดียวได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

บทสัมภาษณ์อีกคนคือ เอกกมล คีรีวัฒน์ อดีตเลขาธิการคนแรกของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งพ้นจากตำแหน่งในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เป็นบทสัมภาษณ์ที่คุณเอกกมลมาเล่าถึงชีวิตและความรู้สึกหลังพ้นจากราชการและอยู่ในระหว่างถูกฟ้องดำเนินคดี

เรื่องราวในนิตยสารเล่มนี้หากจะมองว่าเป็นข้อมูลเก่า ล้าสมัย ก็คงได้ แต่การได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ก็ช่วยให้เราเห็นภาพและเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้มากขึ้นนะครับ

สำหรับนิตยสาร Corporate Thailand ปัจจุบันปิดตัวไปแล้วครับ

 

ติดตาม What We Read Blog ทาง facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/WhatWeReadBlog ครับ